วันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2556

รู้อย่างขงเบ้ง (4) : จัดระเบียบบุคคลให้อยู่มือ

       Note : ผมได้รวบรวมตอน "คิดแบบสุมาอี้" และ "รู้อย่างขงเบ้ง ถึงตอนที่ 3" ไว้เป็นไฟล์ภาพขนาดยาวหน่อย สามารถดาวน์โหลดมาอ่านได้ที่  http://www.thaicyberupload.com/get/vxBSRTd8UM
      

ในระหว่างการดำเนินงาน เหตุการณ์หนึ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ในชีวิตก็คือการร่วมมือกันระหว่างสองบริษัทที่ไม่ได้มีการบริหารกันดีนัก เมื่อเกิดปัญหานี้แล้ว ผู้บริหารทั้งสองฝ่ายควรวางตัวอย่างไร จะปรับความเข้าใจทั้งสองฝ่ายกันแบบไหน  เรื่องนี้ดูไปก็คล้ายกับเล่าปี่ตอนตีได้เสฉวน ซึ่งเจ้าของเดิมคือเล่าเจี้ยง เล่าปี่จะกล่อมใจขุนนางเก่าของเล่าเจี้ยงได้อย่างไร ณ จุดนี้ ขงเบ้งได้แสดงความรู้ออกมาอีกครั้ง ร่วมรับรู้เหตุการณ์ตอนนี้ไปด้วยกันผ่านฝีปากของอาจารย์ 赵于平 กับ 麻辣说三国 ในหัวข้อ “กลอุบายจัดการใจคน”
 

       เราจะมาพูดถึงเหตุการณ์ตอนที่ขงเบ้งเจอปัญหาในการควบคุมสถานการณ์ในเชงโต๋ คนมักกล่าวว่ารบชนะน่ะง่าย แต่ยึดครองได้ยาก ไม่ใช่แค่รบชนะแล้วเรื่องก็จบนี่ ถ้าเทียบกับยุคปัจจุบัน สมมุติว่าบริษัทคุณไปซื้อกิจการของบริษัทอื่น ตรงนี้เป็นเรื่องง่าย แต่พอจะให้ทำงานร่วมกับอดีตผู้นำบริษัทเก่าที่ตอนนี้มาเป็นลูกน้องเนี่ยจะยากละ คนจีนมักจะเป็นประเภทรวมกันตายหมู่ แยกอยู่ตรูรอดเสียมาก ถ้ามารวมกันจะได้ข้อพิพาทมากกว่าผลประโยชน์ และในหมู่ปัญหาความร่วมมือนั้น เรื่องคนทำงานเป็นปัญหาใหญ่สุด คุณใช้ให้เขาทำแต่เขาไม่ทำ แล้วจะทำยังไงดี

       ขงเบ้งในตอนนั้นได้ถกถึงกลยุทธ์ข้อหนึ่งกับเล่าปี่ นั่นคือหากจะสงบสถานการณ์ต้องสยบใจคน อยากจะเริ่มสยบใจคนก็ต้องเริ่มที่ข้าราชการ คนทำงานก่อนเป็นอันดับแรก มีแต่การได้ใจคนทำงาน ข้าราชการ ถึงจะควบคุมสถานการณ์ได้ แล้วจะมีวิธีไหนเล่า ขงเบ้งคิดไว้แล้วสามกลยุทธ์ เป็นกลยุทธ์ที่ถึงแม้ไม่เอาไปใช้ เพียงได้ฟังก็สนุกกับมันได้

      กลยุทธ์ข้อแรกคือ由远及近 先严后宽 จากไกล มาใกล้ เข้มงวดก่อน ผ่อนปรนทีหลัง

       ขงเบ้งได้ทำลิสต์คนที่จะส่งเสริมสนับสนุนเอาไว้ บทที่ 65 ในซานกว๋อเหยี่ยนอี้ได้บอกไว้ว่าในระหว่างที่ขงเบ้งได้แต่งตั้งตำแหน่งขุนนางต่างๆ เขาเลือกคนที่เป็นลูกน้องเก่าของเล่าเจี้ยงเจ็ดคนมาให้ตำแหน่งก่อน รายชื่อที่พอจะคุ้นหน้าคุ้นตาก็มี ตั๋งโห (ต่งเหอ) เล่าป๋า (หลิวปา) อุยก๋วน (หวงฉวน) ไอ้สามคนนี้เป็นแกนนำที่จะเสนอเล่าเจี้ยงให้สู้ต่อมิขอสยบเมื่อครั้งที่เชงโต๋โดนล้อม นอกจากนี้ยังมีอีกสองจำนวนนับที่น่าสนใจ คือ 26 กับ 40

       คือเมื่อยึดเสฉวนได้แล้ว เล่าปี่ก็แต่งตั้งขุนนางมาดูแลเมือง 40 คน 26 คนแรกๆ ล้วนแต่เป็นลูกน้องเก่าเล่าเจี้ยงทั้งนั้น ไม่มีคนฝ่ายตัวเองเลย ลูกน้องเล่าปี่ก็สงสัย ทำไมให้ไอ้คนพวกนี้ได้ดีเหลือเกิน นี่เป็นกลยุทธ์ที่ให้ตำแหน่งแก่คนไกลก่อน คนใกล้ตัวไว้ทีหลัง แล้วทำแบบนี้จะได้ผลแน่เหรอ จะยกตัวอย่างให้ฟัง

       มื้อเที่ยงวันหนึ่ง ในโรงเรียนอนุบาล เด็กๆกินข้าวเที่ยงแล้ว ครูหิ้วตะกร้าแอปเปิลเข้ามาในห้อง หวังจะแบ่งให้เด็กกิน เด็กเห็นก็กรูกันเข้ามา ครูบอกให้ต่อแถว ไม่มีเด็กคนไหนฟังครูเลย ครูเหลือบไปเห็นเด็กน้อยนายหนึ่งอยู่ที่โต๊ะตัวเอง ไม่ได้มาแย่งกับเขา (เพราะปกติเขาเป็นคนขี้เกียจ แถมซกมกด้วย ชอบเล่นน้ำลาย) ครูเลยเรียกเด็กน้อยมา “เฮ้ อาเต๊า มาๆ รับแอปเปิลไปก่อนเลย” จากนั้นหันมาพูดกับเด็กๆว่า “ใครเป็นเด็กดี เชื่อฟัง เราจะให้คนนั้นก่อน มาต่อแถวซะดีๆ” พอเด็กๆเห็นอาเต๊าได้แอปเปิลก่อนใคร เขาก็จะพร้อมใจกันต่อแถวเอง เป็นเพราะอะไรล่ะ

       เด็กในห้องทุกคนรู้ดีว่าอาเต๊านิสัยยังไง แม้อาเต๊าจะนิสัยไม่ค่อยดี แต่ก็ยังได้รับความเชื่อใจ เด็กก็จะเริ่มคิดละว่าฉันดีกว่าเด็กนี่เป็นไหนๆ ขอแค่ปฏิบัติตัวดีกว่าไอ้คนนี้ เดี๋ยวฉันก็ได้เร็วกว่าเอง ใจของเด็กทุกคนสงบลงแล้ว จึงเข้ามาต่อแถวรับแอปเปิล มาดูกรณีคนโตกันบ้าง ทำไมทุกคนชอบกรูกันซื้อตั๋วรถไฟ เป็นเพราะว่าเราถูกสร้างภาพ ถูกลวงจากสังคมกลายๆว่าถ้าเราไม่ไปรุมซื้อ เราจะไม่ได้ตั๋ว ใจคุณจะร้อนรน ถ้าคนขายตั๋วเอาปึกตั๋วมาโชว์ บอกว่าตั๋วมีพอ ได้กันทุกคน ใจคนจะเริ่มสงบลง และยอมต่อแถวซื้อ กลับมาที่เด็กอนุบาล หากครูให้เด็กสงบใจ พวกเด็กๆจะตกลงเข้าคิวเอง

       แต่หากสมมุติว่าให้เด็กดีสุด เก่งสุดได้กินก่อนล่ะ “เอ้า สุมาสูจ๊ะ หนูเป็นเด็กดี เชื่อฟังครู หนูเอาแอปเปิลไปกินก่อนเลย” เด็กๆที่เหลือก็จะเกิดความทรงจำในใจว่าถ้าอยากได้ของดีๆก่อนก็ต้องให้ทำตัวแบบนี้ ทีนี้ก็จะเกิดการเลียนแบบ เด็กบางคนเลียนแบบไม่ได้ ก็จะเริ่มพาล กลายเป็นคนเกเร จับตะกร้าแอปเปิลได้ก็โยนลงถังผง เกิดความขัดแย้งในกลุ่มเด็กเอง แย่ไปกว่าเดิมอีก นี่จึงเป็นที่มาของแผนใช้คนไกลก่อน นั่นคือให้คนที่ตัวเองไม่ถูกใจ เหม็นขี้หน้า (แต่ฝีมือมี) ได้ตำแหน่งก่อน ขอเพียงปฏิบัติต่อเขาอย่างยุติธรรม ถูกต้อง เที่ยงตรง ใจคนก็เริ่มวางใน สถานการณ์ก็จะสงบลงได้เอง 

       เงื่อนไขของเหตุการณ์ที่เล่าปี่เผชิญคือ คนเยอะ ใจเร่งร้อน ไร้ระเบียบ ไอ้ครั้นจะใช้ระเบียบ ปูนบำเหน็จแบบนางฟ้าโปรยดอกไม้ ให้ทุกคนได้รับถ้วนทั่วก็ไม่ได้ จำเป็นต้องใช้เวลา  วิเคราะห์ ตรวจสอบก่อน จึงให้รางวัล แต่ไอ้ครั้นจะมานั่งตรวจสอบทีละคนก็เสียเวลาตายเลย วิธีที่เร็วที่สุดก็คือให้เริ่มจากคนที่เราไม่ชอบหน้า ไม่ถูกตาก่อนนี่แหละ ใครผ่านเกณฑ์ก็ให้ตำแหน่ง ทำแบบนี้เรียกได้ว่าลงเสาเข็มให้ก๊ก ใจคนจะเริ่มมั่นคง มีความเชื่อมั่น ปัญหาของเจ้าหน้าที่ผู้ทำงานก็จบลงตรงนี้


 

งานชิ้นสำคัญอีกอย่างหนึ่งของขงเบ้งก็คือการร่างกฎหมายเพื่อประกาศใช้ในอาณาจักร อันว่าความเป็นระบบคือพื้นฐานของการบริหาร การจัดการไม่อาจยึดตามบุคลิกลักษณะของแต่ละคน มีคนกล่าวว่าการจัดการที่ดีพอสามารถใช้ภูติผีทำงานของเทวดาได้ แต่หากบริหารไม่ดี แม้จะใช้เทวดาทำก็กลายเป็นงานของภูตผีได้ คุณไม่อาจมานั่งเปลี่ยนคนให้เป็นเทวดาไปซะหมด พ่อแม่ยังเปลี่ยนเขาไม่ได้ แล้วคุณเป็นใครกัน ขอแค่คุณวางระบบไว้ แล้วให้ทุกคนดำเนินตาม เพียงเท่านี้ทุกคนก็สามารถทำงานให้เหมือนเทวดาได้

ระบบที่ขงเบ้งวางไว้นั้นเข้มงวดมาก จนมีคนทัก เขาคือหวดเจ้ง (ฝ่าเจิ้ง) เขาถามว่าลดหย่อนหน่อยไม่ได้เหรอ เอาอย่างฮั่นเกาจู่เล่าปังไง ตรากฎแค่สามบท ได้ใจประชาชน แผ่นดินสงบ พี่ท่านเล่นเขียนซะสามร้อยบท นี่มันไม่เยอะไปหน่อยเหรอ ขงเบ้งจึงว่าเหตุที่เล่าปังตรากฎง่ายๆเพราะนายเก่าสมัยฉินมีกฎเข้มงวดเกินไป ประชาชนลำบาก เล่าปังใช้แค่สามบทก็ซื้อใจประชาทั่วหล้า ทว่าเล่าเจี้ยง อดีตนายเก่าของที่นี่นั้นต่างกันออกไป เขาหย่อนยานเกินไป มีเมตตา แต่ไร้ซึ่งอำนาจ ไม่เคยใช้กฎเข้มงวด ตอนนี้เราถึงคุมสถานการณ์ไม่อยู่ จำเป็นมากที่ต้องใช้กฎแบบนี้ บันทึกสมัยเก่าบอกว่า “ชงเบ้งกล่าวไว้ จุดอ่อนของเล่าเจี้ยงคือความล้มเหลวของระบบ ไม่มีการจัดการที่ดีพอ” 

ที่เล่าเจี้ยงทำเป็นคือความมีเมตตา ทว่าเราถกถึงการปกครอง มิใช่ศีลธรรม คุณเอาแต่ผูกใจคนด้วยตำแหน่ง ลาภยศ ความเมตตาอยู่เรื่อยไป ซักวันหนึ่งการให้แบบนี้จะถึงทางตัน เมื่อตำแหน่งสูงสุดแล้ว เงินมีไม่พอให้ ความเมตตาจะกลายเป็นความคับแค้นล่ะทีนี้ ฉะนั้นสิ่งที่ขงเบ้งทำคือก่อนปูนบำเหน็จรางวัล จำต้องทำระบบการปกครองให้เข้มงวด พอระบบเข้มงวดแล้วเราประกาศเกียรติคุณให้ เขาถึงจะรู้จักเกียรติยศ มีแต่การให้ตำแหน่งอย่างมีเงื่อนไขจำกัด เขาถึงจะรู้ค่าของตำแหน่งนั้น สมมุติคุณให้ขนมเด็กกิน หาคุณบอกว่าขนมนี่มีเยอะแยะ ความอร่อยน่ากินจะลดลงครึ่งนึง มีเยอะแล้วนิ จะกินเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ถ้าบอกว่ามีไม่เท่าไหร่หรอก ความปลื้มอิ่มเอมในรสชาติจะเพิ่มเป็นเท่าตัว 

ทั้งหมดนี่เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมขงเบ้งต้องใช้กฎระเบียบเข้มงวด แผนขั้นต่อไปของขงเบ้งคือ “เข้มงวดก่อน ผ่อนปรนทีหลัง” ความผ่อนปรน เป็นกันเองเกินไป ทำให้เล่าเปียวนำทหารรบไม่เป็น ขงเบ้งว่าตอนแรกน่ะเข้มงวดไปก่อน รอโอกาสดีๆ สถานการณ์เข้ารูปเข้ารอย ถึงตอนนั้นค่อยผ่อนปรนกฎอย่างช้าๆ
เมื่อกฎนี้ถูกใช้แล้ว คำถามต่อไปก็คือว่า ยามที่คุณเป็นผู้นำกลุ่มคน เราต้องมีระบอบปกครอง แต่ถ้าเราเป็นหัวหน้าของบุคคลหนึ่งๆล่ะ จะทำไงดี อันนี้ก็ต้องใช้กลยุทธ์ที่ต่างกันออกไปอีก ขงเบ้งต้องเผชิญกับแรงกดดันของขุนนางคนอื่น ขุนนางคนที่ออกลายก่อนใครเลยก็คือหวดเจ้ง ตอนยึดเสฉวนได้ หวดเจ้งได้ตำแหน่งเป็นแม่ทัพขั้นสูง กินตำแหน่งเจ้าเมืองด้วย พอหวดเจ้งมีตำแหน่งแล้ว ท่าทีเขาก็เปลี่ยนไป เขาชอบใครก็ชอบออกนอกหน้า เกลียดใครก็โกรธกันตรงๆ ขุนนางหลายคนก็ส่งรายงานไปที่ขงเบ้งเรื่องนิสัยของหวดเจ้งนี่ 

ขงเบ้งก็ใช้กลยุทธ์ที่ว่า 上敬下威 重用分开 เพิ่มความเคารพ ลดการขู่เข็ญ แยกคุณค่ากับศักดิ์ศรีออกจากกัน (ฟังดูอาจจะงง แต่อ่านไปก็จะเข้าใจเอง) ขงเบ้งเมื่อรับรายงานแล้ว ก็ว่าก่อนหน้านี้นายเราเล่าปี่อยู่เกงจิ๋ว กลัวทั้งโจโฉซุนกวน หากไม่มีหวดเจ้ง ก็ไม่มีเล่าปี่ในวันนี้  หากจะให้หวดเจ้งเปลี่ยนนิสัย ก็มีแต่ต้องทำด้วยเจตจำนงของตัวเขาเอง ขงเบ้งพูดจบแล้ว ขุนนางทั้งหลาย รวมไปถึงปราชญ์รุ่นหลัง ต่างก็มีคำถามในใจต่อขงเบ้ง อย่างแรกก็คือเขาเป็นผู้คุมกฎแท้ๆ ทำไมไม่บังคับใช้กันเล่า สองคือ หรือว่าขงเบ้งหลัวหวดเจ้ง ไม่กล้าเผชิญหน้าท้าทายโดยตรง? ไม่ใช่ทั้งคู่

ในตอนนั้น จริงอยู่ว่าแม้ขงเบ้งจะใหญ่จริง แต่ว่าคนที่เล่าปี่ชื่นชอบโปรดปรานที่สุดกลับเป็นหวดเจ้ง หากงานแรกของขงเบ้งคือการไปสยบคนโปรดของเล่าปี่ ถ้าพูดน้อยหน่อยก็คือไม่รู้กาลเทศะ ถ้าพูดให้แรงหน่อยก็คือเอ็งจงในเป็นปฏิปักษ์ต่อหัวหน้าตั้งแต่เริ่มงานเลย ต่อให้เจ้านายไม่คิดแบบนี้ แต่คนอื่นล่ะ แม่ทัพล่ะ ขันทีล่ะ สื่อมวลชนล่ะ เขาคิด ขงเบ้งไม่อาจไปลบเหลี่ยมหวดเจ้งโดยตรงได้  เพราะ 1. ต้องระมัดระวัง ไม่งั้นจะกระทบกับองค์กรโดยรวม 2. หวดเจ้งเป็นผู้ได้รับการสนับสนุนส่งเสริมรายใหญ่ที่สุด เมื่อคุณมีอำนาจในมือ สิ่งแรกที่ทำคือลงมือกำจัดคน คนเขาจะคิดว่า 卸魔杀驴 ฆ่าลาลากโม่ได้ ชาวบ้านเขาจะคิดยังไง ไอ้ขุนนางที่เพิ่งจะยอมแพ้มาจะคิดยังไง เขาเห็นเขาก็ไม่ยอมคุณแล้ว ก็เหมือนลาที่ตีจากไป จะมีตัวไหนมายอมลากโม่ให้อีกเล่า เพื่อควบคุมสถานการณ์ทั้งทางกายภาพและจิตใจ คุณไม่อาจลงมือโดยตรงได้เลย 

 
ความแรงของสำนวนนี้ก็พอๆกับเสร็จนาฆ่าโคถึกนั่นแล

3.เขาไม่ใช่คนเลอะเลือน ทำไมเขาต้องออกมาแก้แค้น เพราะว่าเขาถูกกดขี่มานาน เหมือนสปริงที่ถูกกดหนักๆ มันย่อมดีดเด้งมาแรง ที่จริงหวดเจ้งก็ไม่ใช่คนเลวนัก ถ้าลองสืบประวัติดีๆ จะพบว่าต้นตระกูลเขาแต่ปางบรรพ์ล้วนแต่เป็นผู้ดีมีการศึกษา หวดเจ้ง เขียนเป็นภาษาจีนได้ว่า  法正 แปลว่าเที่ยงตรงตามกฎหมาย ชื่อรองเขา 孝直 แปลว่ากตัญญู ตรงไปตรงมา บ้านเขาสอนมาอย่างเข้มงวด สิ่งที่เขากระทำล้วนไม่มีอะไรที่คิดว่าแรงเกินไป เสียตรงที่เขาใจร้อนไปหน่อย ขอเพียงแค่ตักเตือนเขาหน่อยก็น่าจะเอาอยู่ ไม่ว่ามองมุมไหน ขงเบ้งก็ไม่ควร และไม่จำเป็นต้องใช้แผนเล่นงานโดยตรง ใช้จุดด้อยเล็กๆมากัดไม่ปล่อยกับหวดเจ้งเลย
ขงเบ้งเลือกที่จะใฃ้แผน 上敬下威 ตักเตือนด้วยความหวังดี มากกว่าจะลงไม้ลงมืออย่างรุนแรง ซึ่งว่ากันตามจริง วิธีที่จะทำให้คนมาฟังเรา เห็นด้วยกับเราในการพูดคุยแต่ละครั้ง มีสองวิธี หนึ่งคือใช้กำลัง ไม่ว่าด้วยอาวุธ ด้วยการขู่ ด้วยการแบล็กเมล์ ให้อีกฝ่ายยอมฟังอย่างเลี่ยงไม่ได้ อีกทางคือยกยอสอพลอ อวยอีกฝ่ายให้ยอมฟัง ขงเบ้งใช้วิธีที่สอง เพราะวิธีแรกเพียงใช้ได้ชั่วคราว อีกทั้งไม่ได้มาจากใจตัวเอง การใช้วิธีที่สองจะยั่งยืนกว่า 

สมมุติว่าคุณอยากให้เด็กกวาดบ้านให้ คุณเอาแต่สั่งๆให้เด็กกวาดบ้าน พอไม่กวาดก็สาปแช่งยาวเลย เผลอๆลามไปถึงคนอื่น อย่าง “เอ็งนี่มันขี้เกียจเหมือนพ่อ/แม่เอ็งเลย” เด็กจะไม่อยากทำ อย่าแรกเป็นเพราะเขารู้สึกว่าเคยมาสอนมาดูมั่งมั้ย เอาแต่สั่งๆ ไม่แนะนำ เดี๋ยวก็ไม่ถูกใจอีก ก็ด่าอีก อย่างที่สองเด็กเขาจะเห็นบ้านเป็นเหมือนสถานกักกัน เขาเป็นแค่เครื่องมือ ลดคุณค่าตัวเองอีก แต่คุณลองเปลี่ยนวิธี ให้คุณชมผลการเรียน ชมการทำการบ้าน แล้วค่อยลองขอให้เขากวาดบ้าน เด็กก็แทบจะกวาดไปยิ้มไปเลยทีเดียว นอกจากนี้แล้วยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับเด็กด้วย

ไม้อ่อนย่อมดีกว่าไม้แข็ง ทำให้คนยอมสยบได้นานกว่า และเต็มใจกว่า ขงเบ้งก็เข้าไปชื่นชมและบอกว่าจะเป็นคนดีต้องเป็นแบบใดแก่หวดเจ้ง ก็ได้ผล หวดเจ้งเข้าใจ และยอมปรับปรุงตนแต่โดยดี วิธีการนี้ ขงเบ้งไม่ได้ใช้แค่กับหวดเจ้งคนเดียว ยังมีอีกคนหนึ่งที่เขาใช้แผนนี้ นั่นคือเล่าเจ้ง คนที่ตีจากเล่าเจี้ยงมาเข้าร่วมกับเล่าปี่ตอนล้อมเมืองอยู่ เขาไม่ใช่คนธรรมดา แต่เป็นปราชญ์มีชื่อแห่งอี้โจว ซานกว๋อจื้อบันทึกไว้ว่าเคาเจ้งร่างกายกำยำ หน้าตาหล่อเหลา เยี่ยมยุทธ์และปัญญา ในสมัยนั้นทั้งเจ้าเมืองแถวนั้นและสาวน้อยสาวใหญ่ต่างก็อยากได้ตัวเขามาไว้ในครอบครอง 

เวลาค้นภาพของนายเคาเจ้ง (ฃื่อจีน许靖 ) มักจะมีภาพสาวๆติดมาด้วย มันบังเอิญไปหรือเปล่า

ทว่าเคาเจ้งไม่ใช่คนทำอะไรจริงจัง ตอนที่เชงโต๋โดนตีแตกนั้น คนอื่นเขาพร้อมจะอยู่สู้ต่อ มีแต่เคาเจ้งนี่แหละที่หนีมาขอเข้าร่วมทัพเล่าปี่ หลายๆคนจึงดูถูกดูหมิ่นเคาเจ้ง ตอนหลังๆเคาเจ้งได้เป็นถึงราชครู ตำแหน่งสูงกว่าขงเบ้งอีก คนที่ขงเบ้งต้องเคารพก้มหัวให้มีแค่สามคนเท่านั้น คือเล่าปี่ เล่าเสี้ยน และเคาเจ้งนี่แหละ การที่ขงเบ้งเคารพคนแบบนี้ นี่ก็เป็นแผนเหมือนกัน แม้ตำแหน่งราชครูจะดูสูงส่ง แต่อำนาจไม่มี นี่เรียกว่า 重而不用 มีค่าแต่ไร้ความสำคัญ คนจีนมักพูดเสมอว่าเป็นคนทั้งทีต้อง重用 มีค่าและความสำคัญ แท้จริงแล้วสองเรื่องนี้มันแยกกันได้ คือมีค่า มีฐานะ คือมีประโยชน์ มีอำนาจ ขงเบ้งมองว่าตำแหน่งของเคาเจ้งนั้นมีฐานะ มีความน่าเคารพ แต่ไร้ซึ่งประโยชน์และอำนาจจัดการ คือ 重用分开 นั่นเอง

ที่ขงเบ้งทำแบบนี้เพราะว่าเคาเจ้งเป็นคนดัง ตั้งตำแหน่งเพื่อให้ก๊กดูดี ว่าดูน่าเข้าร่วม ใครเห็นใครก็ชอบ แต่เคาเจ้งก็มีดีอยู่แค่นั้น เขาจะทำอะไรก็ช่าง ไม่สนใจ เราแค่ยืมชื่อเสียงเขามาใช้ แล้วกลยุทธ์นี้ก็ส่งผลดี มีคนปัญญาดีทั้งบุ๋นบู๊มาเข้าร่วมด้วยหลายคน จากจุดนี้จะเห็นได้ว่าคนอย่างหวดเจ้ง เคาเจ้ง สองคนนี้เพียงใช้ไม้อ่อน ให้ความเคารพ ให้เกียรติ เท่านี้ก็จัดการใช้คนอย่างพวกเขาได้ แม้จะมีปัญหายุ่งยากบ้าง แต่ก็ไม่เท่าไหร่ คนที่เราจะมีปัญหาในการจัดการใช้สอยด้วยจริงๆก็คือคนที่ผู้นำให้ความเชื่อใจ และใกล้ชิดผู้นำมากกว่า ยามเมื่อคนแบบนี้ทำอะไรผิด คนรอบข้างก็จะดูปฏิกิริยาของผู้นำ และตัวขงเบ้งว่าเขาจะทำยังไง ขงเบ้งควรจะใช้คนแบบนี้ยังไง ต้องคอยดูกันต่อไป

คนที่เข้าข่ายตามเงื่อนไขเมื่อครู่นี้ก็คือ เล่าฮอง ขงเบ้งใช้กลยุทธ์ 近严远宽 ใกล้เข้มงวด ไกลผ่อนปรน 罚上立威คาดโทษคุมอำนาจ เรามาดูภูมิหลังของเล่าฮองกันก่อน เดิมเขาชื่อเค้าฮอง ตอนที่เล่าปี่มาเกงจิ๋วใหม่ๆ ยังไม่มีลูก ก็รับเค้าฮองเป็นลูกบุญธรรม ตอนที่ไปตีเสฉวนกันก็อายุได้ประมาณ 20 ปีพอดี วัยกำลังเลือดร้อน อยากลองวิชายุทธ์ หลังยึดเสฉวนได้ก็เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ช่วยรองแม่ทัพแห่งสำนักพระราชวัง ภายหลังก็ร่วมกับเบ้งตัดไปเข้าตีส้างหยง ตอนหลังๆเล่าปี่กังวลว่าเบ้งตัดจะคุมทัพได้ไม่ดี เลยให้ตัวเองกับเล่าฮองมาคุมทัพด้วยกัน จากตรงนี้จะเห็นได้ว่าเล่าปี่มีความเชื่อมั่นในตัวลูกคนนี้มาก 

ตอนหลังจากเสร็จศึกส้างหยงแล้ว เล่าปี่ก็เพิ่มตำแหน่งเล่าฮองให้เป็นรองแม่ทัพ อยู่ช่วยเบ้งตัดรักษาเมืองส้างหยง จากนั้นมาเล่าฮองก็เริ่มบ้าอำนาจ เขาทำความเสียหายร้ายแรงสามอย่างให้กับก๊กตัวเอง อย่างแรกคือตอนที่กวนอูบุกห้วนเสีย เขาส่งสารไปขอความช่วยเหลือแก่เล่าฮองหลายครั้ง แต่เล่าฮองไม่ช่วย สุดท้ายกวนอูพ่าย ต้องหนีจนโดนจับตายโดยลิบอง เล่าปี่รู้เรื่องก็โกรธมาก อย่างที่สอง พอเล่าฮองมาอยู่ช่วยเบ้งตัดก็ 居功自傲 ลำพองตน ก็หาเรื่องทะเลาะกับเบ้งตัดอยู่บ่อยครั้ง จนเบ้งตัดกลัว ก็เลยหนีไปเข้าร่วมวุยก๊ก เป็นความสูญเสียครั้งใหญ่อีก ครั้งที่สามคือการเสียเมืองส้างหยง ซินหงีแอบก่อการกบฏอย่างลับๆ คนอื่นระแคะระคาย แต่เล่าฮองไม่นำพา ไม่ตรวจสอบ พอซินหงีก่อการสำเร็จ เล่าฮองไม่คิดแม้แต่จะต่อต้าน ได้แต่หนีมาตัวเปล่ากลับเมืองหลวง 

ช่วงเวลานั้น ความรักในตัวเล่าฮองของเล่าปี่หายไปหมดแล้ว เล่าปี่ถามขงเบ้งว่าจะเอายังไงกับเล่าฮองดี ความคิดแรกของเล่าปี่คิดว่าจะลงโทษให้จงหนัก ทรมานใช้แรงงานเยี่ยงทาส คาดไม่ถึงว่าขงเบ้งผู้สงบ สุภาพจะเสนอโทษตาย ให้ประหารเล่าฮอง ขงเบ้งแจกแจงเหตุผลให้ฟังว่าเล่าฮองเคยเป็นคนโปรดของท่านมาก่อน หากท่านให้อภัย หรืองลงโทษเบาไป เราจะมีปัญญาไปสั่งการ บริหารคนอื่นอีกหรือ ถ้าเทียบกับยุคปัจจุบัน ถ้าคนในบ้านยังคุมไม่ได้ ยังริจะไปคุมคนอื่นได้หรือ หากลูกหลานเป็นผู้นำกลุ่มคนในบริษัท ถ้าเราลงโทษหนักมือ ลูกหลานจะเกลียดเรา ถ้าลงโทษเบาไป พนักงานในบริษัทจะเกลียดเรา หากไม่ทำอะไรเลย คนเกลียดจะขยายวงกว้างไปยังคนภายนอกด้วย ถ้าจะควบคุมมหาชนทั้งนอกใน เราได้แต่ใช้ทางเลือกแรก คือลงให้หนักมือ

เหตุผลที่สองของขงเบ้งคือ เล่าฮองเป็นลูกหลานท่าน เท่ากับว่าเขามีส่วนเป็นฮ่องเต้ด้วย อายุแค่ยี่สิบกว่าๆ มีกำลังพลในมือ ยังกร่างขนาดนี้ เสียหายขนาดนี้ อีกหน่อยเกิดให้เขาสืบทอดตำแหน่ง พาก๊กเจ๊งจะทำไง คนจีนเรามีคำกล่าวว่าความย่อยยับที่แท้จริงมักเกิดจากคนข้างกาย มีแต่การจัดการที่ดีและเข้มงวดเท่านั้นถึงจะควบคุมได้ เล่าปี่จึงกัดฟันสั่งให้เขาฆ่าตัวตาย
เวลาที่ขงเบ้งต้องมาบริหารจัดการคนใกล้ตัว ลูกหลานของเล่าปี่ ข้อแรกที่เขาจะทำก็คือแผน “ใกล้ให้เข้มงวด ไกลให้ผ่อนปรน” หมายถึงคนในคนใกล้ตัวผู้นำให้เข้มงวดกับเขาไว้ก่อน แต่กับคนไกลตัว คนที่ไม่ใช่ญาติต้องโอนอ่อนผ่อนตาม ยามที่เราใกล้ชิดคนใกล้ตัว แลกเปลี่ยนความรู้สึก ถ่ายทอดความนึกคิด กลัวแต่ว่าเมื่อนานๆไปคนพวกนี้จะทำสิ่งที่ไม่ควรทำ พูดสิ่งที่ไม่ควรพูด อันเนื่องมาจากความเคยชินหรือหลงในอำนาจจนละเลยตำแหน่งฐานะ ถ้าจะควบคุมไม่ให้เกิดความผิดพลาด ต้องเข้มงวดกวดขัน หากคนใกล้ตัวผู้นำทำความผิดพลาดแล้ว จะนำพาความเสียหายมาถึงเราสามอย่าง
  • หนึ่ง ก่อกำเนิดความขัดแย้ง ความเสียหายจะมาถึงเรา ผู้นำผู้บริหารเป็นคนแรกเลย ไม่ใช่คนใกล้ตัวที่ทำผิดนั่น
  • สอง เสื่อมเสียชื่อเสียง เวลาที่คนทำผิด เขาไม่ด่าคนทำ เขาจะด่าผู้บริหารจัดการ ผู้นำนี่ล่ะ
  • สาม นำมาซึ่งความเจริญของพฤติกรรมแย่ๆ ประมาณว่า เฮ้ย คนใกล้ตัวผู้นำทำพลาดแล้ว ผู้นำไม่จัดการว่ะ ชนชั้นล่างอย่างเราก็เอามั่งสิ คนใกล้ตัวทำแค่หนึ่งเรื่อง มหาชนจะทำเพิ่มอีกสิบเรื่อง
ฉะนั้น หากเราเป็นผู้บริหาร ต้องควบคุมคนใกล้ตัวผู้นำให้ดี ไม่ว่าจะอยู่ในระดับไหน ตำแหน่งใดก็ตาม จะลูกหลานหนุ่มแก่เด็กเล็ก ที่เป็นเลขา คนขับรถ ผู้ช่วย คนสวน ล้วนแต่ต้องทำให้อยู่มือเพื่อป้องกันความผิดพลาด ขงเบ้งต้องทำแบบนี้ ไม่งั้นก๊กจะเสียหาย ทว่ากับชนชั้นล่าง ผู้ร่วมงานที่ไม่เกี่ยวดอง ขงเบ้งกลับทำอีกอย่าง เวลาคนพวกนี้ทำผิด แค่ไปว่ากล่าวตักเตือนหัวหน้าแผนก หัวหน้ากลุ่มเท่านั้น หรือปล่อยให้หัวหน้าพวกเขาจัดการกันเองก็พอแล้ว 

กับคนไกลตัว คนพวกนี้เราไม่ได้ใกล้ชิด แถมอีกฝ่ายต้องเคารพเราอยู่แล้ว เจาจึงต้องสวนหน้าเปื้อนยิ้มเข้าหาตัวเขา อยากให้ทุกคนลองคิดดูว่าคนงาน พนักงานระดับล่างมีจุดเด่นหลายอย่าง ทว่าให้ลองนึกถึงกระดาษขาวที่แต้มจุดไว้ ถามว่าจุดกับสีขาวอะไรเด่นกว่ากัน ต้องเป็นจุดดำๆแน่ๆ คนเรามีความอ่อนไหวต่อจุดเลวข้อด้อยมากกว่าจุดดี แต้มดำแต้มเดียวทำกระดาษขาวดูหม่นไปทั้งแผ่น เวลาเข้าหาพวกชนชั้นไกลตัว ชนชั้นล่าง เราต้องทำตัวให้ดูน่าอบอุ่น ดูน่าคบหาอยู่เสมอ อย่าเอาแต่หาจุดเสียของเขา นี่เป็นข้อสำคัญของกลยุทธ์ใกล้เข้มงวด ไกลอ่อนโยน

ที่จริงเรื่องของเล่าฮองนี้ ขงเบ้งยังได้ประโยชน์เติมเข้าไปอีก นั่นคือคาดโทษเพื่อคุมอำนาจ ทำไมขงเบ้งต้องลงมือเก็บเล่าฮอง เพราะตอนนั้นคณะรัฐบาลของจ๊กก๊กเข้าปกครองแล้ว ตอนนั้นตีได้ดินแดนของเตียวฬ่อ เล่าเจี้ยง โจโฉ จ๊กก๊กกำลังมือขึ้น ความเย่อหยิ่งหัวแข็งของเหล่านายทัพกำลังก่อตัว เพื่อสั่งสอนและขู่ขวัญนายทัพพวกนี้ ขงเบ้งจำต้องเชือกไก่ให้ลิงดู ต้องหาคนที่เข้าข่ายเพียงพอ 

ยกตัวอย่างให้ดูง่ายๆ สมมุติว่าเราคุมช้างกลุ่มหนึ่งมาทำงาน เหล่าช้างไม่ยอมทำ กระด้างกระเดื่อง แล้วจะทำยังไง เปิดประชุมด่วน บอกว่าเรามันคนกันเอง ตัวใหญ่เหมือนกัน มีอะไรก็ช่วยๆกันสิ ข้าน่ะเป็นนายของพวกเจ้า ข้าเป็นคนมีหลักการ ทำอะไรก็ยึดถือน้ำใจนะ แต่ก็ไม่ค่อยเอาหลักการมาใช้ ใครกล้าขัดขืน ข้าจะลงมือให้จงหนัก ว่าแล้วก็หันซ้ายหันขวา เจอมดตัวหนึ่งเกาะขอบประตู ก็เข้าไปตะคอกใส่ แกไอ้มดนอกคอก คนของแผนกไหนกัน ทำไมไม่เดินเข้าประตูมาดีๆฟะ ข้าจะจัดการเจ้า ว่าแล้วก็จับมดมาบี้แบนคามือ เหล่าช้างเห็นได้แต่ส่งเสียง ฮูม แปร๋น ถุยมันคงจะฟังอยู่หรอก เชือดมดให้ช้างดู มีแต่จะโดนหัวเราะเยาะ
กลับกัน ให้คุณปกครองมดกลุ่มหนึ่ง คุณเข้าไปพูดกับมดด้วยคำพูดอย่างเดียวกับช้างก่อนหน้านี้ หันซ้ายหันขวา ไปเจอช้างขวางประตู ก็ตะคอกว่าแกอยู่แผนกไหน ช้างหรือว่าหมู มายืนขวางประตูเนี่ย พูดจบก็ลากงวงมันมา ตบจนช้ามึนช้างเซ กลับมามองมดอีกที ทุกตัวชูหนวดชูมือ ส่งเสียงพร้อมกัน “ท่านผู้นำจงเจริญ” รีบปฏิญาณตนโดยทันที การฆ่ามดให้ช้างดู มีแต่จะโดนหัวเราะเยาะ แต่การฆ่าช้างให้มดดู จะทำให้มดตกตะลึง

ที่ซุนวูประหารนางสนมโปรดฮ่องเต้ ซือหม่าหรางประหารจวงกู่ ก็ด้วยเหตุผลเดียวกับขงเบ้งประหารเล่าฮอง คือทำไปเพื่อรักษาระเบียบ อันที่จริงเราจะไปไล่ฆ่าคนที่ไม่เชื่อฟังทุกคนคงไม่ได้ เลือกเอาคนที่ดุดัน อารมณ์ร้อน เย่อหยิ่ง อามาแล้วไม่พูดมาก จับประหารมันตรงนั้น คนที่เหลืออยู่จะตกตะลึง และเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู อันที่จริงสำนวนนี้ค่อนข้างจะมีปัญหา ไก่กับลิงอะไรตัวใหญ่กว่ากัน ลิงขนทอง ลิงไท่ซาน ลุกขึ้นยืนก็ใหญ่กว่าไก่แล้ว คุณเชือดให้มันดู มันคงจะสนใจหรอก กลับกัน ให้เชือดลิงให้ไก่ดู ไก่จะรีบกลัวลนลานไม่ทันกันเลยทีเดียว นี่เรียกว่าคาดโทษเพื่อคุมอำนาจ 
 
ภาพวาดของสำนวนนี้ในจีนมักจะออกไปทางลิงไม่กลัวเสียส่วนมาก ลิงกับไก่ไม่เกี่ยวข้องกัน ไก่ดวงซวยโดนเชือดฟรี

ถ้าต้องการรักษาระเบียบอำนาจ คุณต้องเรียกไอ้ตัวใหญ่มาข่มขวัญให้ดูก่อน ขงเบ้งประหารเล่าฮองเพราะเหตุผลสามประการ หนึ่ง สงบใจคนในกองทัพ สอง หลีกเลี่ยงภัยพิบัติในวันหน้า สาม เป็นการเชือดลิงให้ไก่ดู ปรามใจแม่ทัพน้อยใหญ่ เรียกได้ว่าเสียหนึ่งคน รักษาทั้งกองทัพ ทั้งประเทศ ทว่าการสั่งประหารเล่าฮองก็ทำให้เกิดปัญหาอยู่บ้าง ขงเบ้งเป็นรองผู้นำ อำนาจเขาเล็กกว่าแค่เล่าปี่คนเดียว จัดการกับปัญหาลูกคนโปรดของเล่าปี่อย่างหนักมือ แม้ว่าเป็นการตัดสินใจ ผ่านการคิดมาอย่างดีแล้ว แต่ก็ยังมีคนแอบสงสัย นี่ทำเกินไปหรือเปล่า เกิดปัญหาคนมีอำนาจใหญ่หลวง จนสั่นคลอนราชวงศ์ ขงเบ้งต้องเผชิญกับปัญหาที่คนประเภท “อยู่ใต้หนึ่งคน อยู่เหนือนับหมื่น” ต้องเจอ คือคุณมีอำนาจบริหารเกินตัว ทำให้ขุนนางระดับล่างจนถึงผู้นำอย่างเล่าปี่ต้องขัดข้องใจ ขงเบ้งพบปัญหานี้แต่เนิ่นๆ เขาจึงต้องวางตัวต่อหัวหน้าตัวเองซะใหม่ เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะ ข้อขัดแย้งในวงการงาน แล้วเขาจะใช้วิธีอะไร เชิญติดตามต่อตอนหน้าครับ

5 ความคิดเห็น: