วันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2556

รู้อย่างขงเบ้ง (5) : กลเม็ดเคล็ดลับเรียกความเชื่อใจ

       ในวงการงานของเรา มักจะมีคนระดับหัวกะทิ เวลาทำงานก็แสดงพลังออกเต็มที่เสมอ แม้กระนั้นก็ตาม คนประเภทนี้ก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาในการทำงาน คนแบบนี้มักจะมีปัญหาที่ชนชั้นลูกกระจ๊อกไม่มีสิทธิ์กลุ้ม นั่นคือปัญหาความไว้วางใจจากผู้นำ กลัวว่าจะมีการขัดขำสั่ง หรือพาลล้มตำแหน่ง หักเก้าอี้กันง่ายๆ ขงเบ้งก็เจอไม่ต่างกันเท่าไหร่ เล่าปี่นายเก่าเขาก็ใช่ว่าจะเชื่อใจไปตลอด ขงเบ้งใช้วิธีไหนเพื่อเรียกความเชื่อมั่นในตัวเองต่อเล่าปี่ คนรุ่นหลังควรนำแผนนี้ไปใช้ยังไงดี หาคำตอบได้กับการเล่าสามก๊กอย่างมีอารมณ์ขันเป็นกันเอง โดยอาจารย์ 赵于平 เชิญรับชมได้ ณ บัดนี้ ในตอนที่มีชื่อว่า “ยอดเคล็ดลับเรียกความเชื่อถือ”


       ค.ศ. 223 เล่าปี่นอนซมอยู่บนเตียง หมอบอกว่ามีอาการท้องเสีย ห้วงความคิดในสมองของเล่าปี่ตอนนั้นคือภาพของตัวเองมองลงมาจากยอดเขา เห็นเปลวไฟสูงเสียดฟ้า บรรยากาศเต็มไปด้วยเสียงการฆ่าฟัน ศพคนและม้าเกลื่อนกลาด รถรบเรือรบกองสุมกัน ใครบางคนอาจบอกว่าเป็นศึกผาแดง แต่นั่นเป็นภาพติดตาของเล่าปี่ที่เห็นของพวกนี้มาทั้งชีวิต ครานั้นเขาเพิ่งผ่านพ้นจากเหตุการณ์ ”ยุทธภูมิแห่งอิเหลง” มาไม่นาน เรียกได้ว่าเป็นความสูญเสียครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตเลยทีเดียว ตัวเขาในตอนนี้ก็สูญไม่ต่างจากตอนที่โจโฉพ่ายศึกผาแดงซักเท่าไหร่นัก เขาเกิดความไม่เชื่อมั่นในสิ่งที่เห็น ทำไมกูแพ้หนักขนาดนี้วะ

       ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นเล็กน้อย เมื่อปีที่แล้วกระทาชายนายเล่าปี่ตั้งตนเป็นฮ่องเต้ งานแรกที่เขาทำในฐานะฮ่องเต้คือล้างแค้นให้กวนอู ยกพวกไปหวดง่อก๊กแบบยกแก๊งค์ ทว่าการยกพวกไปตีก็ไม่ได้ทำให้จิตใจที่เศร้าโศกดีขึ้นมาแม้แต่น้อย แย่ไปกว่านั้นกลับพ่ายแพ้ซะอีก ดัชนีความสุขในจิตใจเล่าปี่ที่ต่ำอยู่แล้วก็ร่วงระนาวกราวรูด เสียทัพ เสียขุนพล เสียสุขภาพทั้งกายและจิต ได้แต่ม้วนหางกลับไปอยู่ที่เป๊กเต้เสีย พอมาถึงเมืองไม่นานก็ป่วย ท้องเสียเล่นงาน ก็เรียกหมอมาดูอาการให้ หมอบอกว่าแบบนี้ไม่นานก็หาย

       ท่าการณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น ยิ่งรักษากลับยิ่งแย่ลงเรื่อยๆ ถึงขั้นหมดเรี่ยวหมดแรง ลุกไม่ขึ้น เล่าปี่ก็ตระหนักได้ว่าเวลาตัวเองเหลือไม่มากแล้ว ก็ให้ม้าเร็วไปตามตัวขงเบ้งที่เฉิงตู (เชงโต๋) เพื่อเรียกมาฝากฝังครั้งสุดท้าย เรื่องเลาของการฝากฝังครั้งนี้ไม่ว่าบันทึกใดๆต่างก็มีกล่าวถึง ทั้งยังเป็นเรื่องที่ไม่ว่านิยายหรือเรื่องจริงก็ระบุตรงกัน นั่นคือ เล่าปี่ใช้แรงเฮือกสุดท้ายเกาะกุมมือขงเบ้ง ปากก็กล่าวเสียงแหบๆว่าขงเบ้งเอย ตัวท่านฉลาดกว่าโจผีเป็นสิบเท่า จะต้องนำพาอาณาจักรเราไปสู่ความยิ่งใหญ่ได้แน่ หากลูกข้ามีปัญญาเฉียบแหลม ท่านก็จงช่วยเขาเป็นฮ่องเต้ให้ได้ แต่หากลูกข้าไร้สามารถ หมดสมรรถภาพ ท่านก็จงตั้งตนเป็นฮ่องเต้แทนเถิด

       คำพูดนี้ทำเอาขงเบ้งหลั่งเหงื่อเย็นเยียบ อยู่เงียบๆ ขงเบ้งไม่คิดว่าเล่าปี่จะกล่าวฝากฝังครั้งสุดท้ายในลักษณะนี้ ทอดตาดูทั่วประวัติศาสตร์จีน ไม่ว่าจะยุคใด สมัยไหนก็ตาม คนที่กล่าวแบบนี้คาดว่ามีเล่าปี่คนเดียวเท่านั้น ลองนึกถึงเถ้าแก่เจ้าของกิจการที่ใกล้จะตายแหล่มิตายแหล่ เรียกรองผู้จัดการใหญ่มาคุยด้วย บอกว่าถ้าลูกตัวเองมันมีน้ำยาก็ช่วยมันคุมกิจการ ถ้าลูกมันกากเดนโหลยโท่ย กิจการนี้จะเป็นของเจ้า ข้ายกให้เลย มีนายที่ไหนในโลกบ้างสั่งการแบบนี้

เล่าปี่สั่งการกับขงเบ้งก่อนตาย ด้วยวาทกรรมแหวกแนว

       ที่เล่าปี่พูดเช่นนี้คาดการณ์ได้สองอย่าง หนึ่งคือเล่าปี่นั้นจริงใจ ขอเพียงเป็นคนมีฝีมือ ไม่จำเป็นต้องใช้ลูกหลาน แค่เอาก๊กให้รอดยันรุ่งโรจน์เป็นใช้ได้ สองคือเล่าปี่กังวลใจ ขงเบ้งนั่นเป็นรองแค่เขาคนเดียว อำนาจใหญ่คับฟ้า ลูกตัวเองเพิ่งจะอายุสิบเจ็ด ไม่รู้สี่รู้แปด ยัง noob อยู่มาก จะเอาขงเบ้งลงเหรอ จะคุมได้อยู่มือมั้ย แล้วถ้าคุมไม่ได้จะทำยังไง นี่คือกังวลใจ ขงเบ้งได้ตอบกลับไปว่าข้าได้ทุ่มเทกายใจเต็มที่ จะขอภักดี มิมีเปลี่ยนใจ ตราบชีวิตจะหาไม่

       การพูดของเล่าปี่เป็นแรงกดดันขงเบ้งมหาศาล ขงเบ้งไม่ได้พูดเปล่าๆ แต่พูดไป ร้องไห้ไปด้วย แบบน้ำหูน้ำตา น้ำมูกน้ำลายไหลออกมาหมด ก็มีคนวิเคราะห์การร้องไห้ของขงเบ้งไว้เหมือนกัน ที่ขงเบ้งร้องไห้อาจเป็นเพราะว่าเขาซาบซึ้งใจที่เล่าปี่อุตส่าห์ไว้ใจให้ขึ้นคุมก๊กแทนลูกตัวเอง หรืออาจจะเป็นรู้ว่าเล่าปี่ใกล้ตาย หัวใจสลาย พูดจาเป็นลางเลยเศร้าโศกหนัก แต่เท่าที่กระผมวิเคราะห์ดูแล้วยังมีอีกเหตุผลที่น่าจะเป็นไปได้ นั่นคือเจ็บปวดใจ ที่ตนเองทำงานหนัก แสนภักดีแค่ไหน สุดท้ายก็ยังโดนระแวง ถึงพูดอะไรแบบนี้ออกมาเพื่อลองใจกัน จึงร้องไห้ด้วยความคับแค้นใจออกมา

       ในยามนี้ ขงเบ้งได้แต่อาศัยความรู้ของตัวเองเอาตัวรอด คนเราไม่กลัวจนมุม กลัวแต่เมื่อจนมุมแล้วไม่อาจคิดหาวิธีเอาตัวรอด แม้บางทีคนไม่กลัวการสิ้นวิธีคิดเอาตัวรอด กลัวแต่ว่าถึงเวลาจริงกลับหาคนที่มีวิธีคิดไม่เจอ ร้ายแรงกว่านั้นคือเมื่อเจอคนที่มีความคิดอ่านชี้แจงให้ ทว่าคุณเองกลับไม่เชื่อวิธีเหล่านั้น ขงเบ้งไม่ตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขเหล่านี้ เพียงแค่คิดเองแล้วลงมือทำด้วยตัวเองก็พอแล้ว ขงเบ้งคิดออกด้วยการใช้สี่กลยุทธ์ ซึ่งมีผลต่อเขาและคนอื่นอย่างมหาศาล

       ก่อนที่จะพูดถึงสี่กลยุทธ์นั้น ขอกลับมาที่สถานการณ์ปัจจุบันก่อน ไม่ว่าบริษัทใดๆล้วนแต่ไม่กลัวการทำธุรกิจ เพียงเกรงการจัดการคน ไม่กลัวปัญหาในทีมงาน เพียงกลัวสมาชิกในทีมก่อปัญหา ผู้นำหลายคนมักจะกังวลกันว่าจะบริหารคนในมืออย่างไรดี ซึ่งอันที่จริงแล้วการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างทีมงาน จัดการปัญหาที่เกิดจากลูกทีมแต่ละคนเป็นหัวใจหลักในการดำเนินงานเลยทีเดียว แม้มือเท้าจะอ่อนเปลี้ย แต่ถ้าสมองยังดีก็ยังจัดการตัวเองได้ ถ้าสมองเจ๊งเมื่อไหร่ ร่างกายและจิตใจจะแข็งแรงแค่ไหนก็มีปัญหา คนมักกล่าวว่ารถไฟวิ่งได้เพราะหัวรถจักร หากไร้ซึ่งหัวรถ ขบวนนี้ก็ด้อยค่ากว่าวัวควาย

       กลยุทธ์ที่ขงเบ้งใช้จัดการกับปัญหาในทีมงานมีอยู่ไม่กี่ข้อ จะขอแจกแจงดังต่อไปนี้

  • หนึ่ง เสริมพัดโบกในหน้าที่ พาชีวีก้าวสู่แท่น
      ข้อนี้ ขงเบ้งทำได้ดีมาก แต่ก่อนจะถกข้อนี้ เราจะกล่าวถึงชีวิตของเล่าปี่ก่อน คนโบราณมักพูดว่า “ครบรอบปีนักษัตร ชีวิตมักยุ่งยาก” เล่าปี่เกิดปีฉลู ปี คศ. 209 ครบรอบปีฉลูครั้งที่สี่ เพิ่งผ่านพ้นศึกผาแดงไม่กี่ปี รอบปีนี้เกิดอะไรกับเล่าปี่มากมาย เมียกำฮูหยินตาย เหลือไว้แต่ลูกที่อายุเพิ่งจะสามขวบ ยังความเศร้าโศกให้เล่าปี่มาก ครานั้น ลิห้อมขุนนางจากซุนกวนก็เข้ามาหา เล่าปี่ก็คิดว่าสงสัยจะมาทวงคืนเกงจิ๋วให้ง่อก๊กอีกเป็นแน่ แต่ว่าไม่ใช่ ลิห้อมบอกว่าได้ยินว่าเมียเก่าเพิ่งตายมาหมาดๆนี่ ซุนกวนนายเรามีเมียใหม่มาเสนอให้ท่าน รับรองว่ายังสดๆซิงๆ เพิ่งจะวัยรุ่นอยู่

       เล่าปี่ได้ยินเข้า แม้ว่าจะดีใจ แต่ก็ยังเคลือบแคลง บอกว่าข้าอายุจะห้าสิบแล้ว ขนทั่วร่างทั้งส่วนบนส่วนล่างจะขาวหมดแล้ว จะเหมาะหรือ ลิห้อมจึงว่าสาวน้อยนางนี้มีใจรักในผู้กล้า ควรคู่ยิ่งนักกับวีรบุรุษเช่นท่าน อายุเป็นเพียงตัวเลข จะกล่าวเลี่ยงไปไย เล่าปี่จึงว่าขอคิดก่อน จากนั้นจึงวิ่งแจ้น รีบไปปรึกษาขงเบ้ง  ซึ่งก็ได้คำแนะนำว่าพูดคุยกันให้ดีๆ แล้วอีกสองสามวันค่อยไปแต่ง เล่าปี่กลับบอกว่านี่มันต้องเป็นแผนของจิวยี่ชัดๆ จะส่งเนื้อเข้าปากเสือทำไมกัน ขงเบ้งจึงว่าอยากแต่งกับลูกเสือสาวก็ต้องกล้าเข้าถ้ำเสือกันหน่อย เรื่องทางหนีทีไล่เดี๋ยวจัดการให้ ไม่ต้องห่วง เกงจิ๋วจะยังอยู่ดี แถมได้สาวงามมาเลี้ยงไว้เล่นอีกด้วย 

คนคราวพ่อ แต่งกับสาวคราวลูกหลาน เพราะการเมืองหรือจริงใจ?

       เล่าปี่ก็รีบเก็บข้าวของ เตรียมเดินทางเข้าถ้ำเสือ ก่อนไปก็ดันตื่นกลัวขึ้นมาอีก ขงเบ้งจึงให้จูล่งไปด้วย พร้อมแผนสามอย่าง อย่างแรก พอถึงแดนง่อให้ประกาศการมาถึงอย่างยิ่งใหญ่ ให้สื่อมวลชนตีข่าวว่าจะมาแต่งงาน ทำข้าวสารเป็นข้าวสุก เกี่ยวดองกับงอก๊กไท่ เกียวก๊กโล่ เพิ่มอำนาจขึ้นไปอีก สองคือจงหาเวลาอันเหมาะสม ประกาศข้ออ้างในการบุกรุกเกงจิ๋วของโจโฉ เพื่อให้เล่าปี่มีข้อแก้ตัวกลับเกงจิ๋ว สามคือในเวลาที่ถอยกลับเมือง ถ้าไปไม่ได้ด้วยเหตุอันใด ก็ให้น้องสาวซุนออกหน้า แล้วจะกลับได้ปลอดภัย

       กาลเวลาผ่านไป ด้วยแผนต่างๆที่วางไว้ให้ ทำให้เล่าปี่ได้เสือสาวกลับมาเชยชมฟรีๆ ยั่วจิวยี่ให้โกรธแค้นกันเล่นๆ ผลงานคราวนี้ทำให้ขงเบ้งได้รับความเชื่อถือ ปลาบปลื้ม และซาบซึ้ง ขงเบ้งนั้นเป็นคนฉลาด ในทีมงานเขานั้นก็เป็นรองหัวหน้า ยามปกติที่กำหนดกลยุทธ์นั้น คุณยังต้องกังวลใจกับปัญหาชีวิตของหัวหน้าทีม เวลาที่เขาพบเจอความลำบากในชีวิต คุณต้องเป็นเพื่อน เป็นพี่น้องที่คอยให้คำปรึกษาให้เขาได้ เราทุกคนเปรียบเสมือนอยู่บ้านหลังใหญ่ นายเราก็เหมือนพ่อแม่ ทหารร่วมรบก็เป็นเหมือนน้องพี่ เราทำตามหน้าที่บางครั้งก็ไม่พอหรอก ต้องมีความเป็นห่วงใย ใส่ใจกันบ้าง

       ขงเบ้งมองเห็นว่าการไปแต่งงานกับน้องสาวแซ่ซุนของเล่าปี่มีความเสี่ยง แต่ว่าก็ไม่ได้ห้ามปรามอะไรมาก เขาไม่ได้ใช้ฐานะกุนซือบอกไปว่าท่านอย่าได้ไปเลย เพียงเพื่อสาวคนเดียว จะเอาชีวิต เอาอนาคตของก๊กไปทิ้งเชียวเหรอ หากเขาพูดอย่างนี้ก็จะกลายเป็นการขัดขวางความเจริญครั้งหนึ่งในชีวิตเล่าปี่ หากครานั้นมีกุนซือสองคน คนหนึ่งทักท้วงว่าอย่าไป อีกคนบอกว่าไปเถอะ เรามีแผนรับมือ คิดว่าเล่าปี่จะฟังใครดีล่ะ ก็ต้องอย่างหลังสิ แถมเชื่อมั่นในแผนนั้นอย่างเต็มใจด้วย ฉะนั้นหากมีใครสักคนข้างกายไม่เชื่อใจคุณ แปลว่าคุณกับเขา/เธอถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดให้กันไม่เพียงพอ ต้องแคร์เหตุการณ์ในชีวิตคนๆนั้นบ้าง ไม่ใช่เอาแต่ทำตนในหน้าที่ทั้งวัน พูดแต่เรื่องการงานการเรียน หรือเรื่องทั่วไป การช่วยเหลือใครสักคนแก้ปัญหาชีวิตจะทำให้ความเชื่อใจระหว่างเขา/เธอผู้นั้นกับคุณมีให้กันมากขึ้นไปอีก กลยุทธ์นี้ก็คือในเวลางานให้ทำงาน เมื่อเจอปัญหาชีวิตให้ช่วยเหลือกันนั่นเอง

       หลังจากเหตุการณ์เล่าปี่แต่งเมียสาวผ่านไป ไม่นานนักขงเบ้งก็ได้มีโอกาสใช้กลยุทธ์ที่สอง นั่นคือในเวลางานเฉพาะทาง ขงเบ้งไม่เคยเรียกร้องว่าฉันชอบทำอะไร เขาใช้อะไรก็ทำ แผนที่สองก็คือ...

  • สอง ละวางความถนัด ทำสิ่งที่ควรทำ
       บันทึกซานกว๋อจี้เขียนไว้ว่าครั้งนึงเตียวเจียวร่วมปรึกษากับซุนกวน จะเชิญขงเบ้งมาร่วมก๊ก ซุนกวนจึงส่งจดหมายเชิญมา แต่ขงเบ้งก็มิได้ตอบตกลงกลับไปเลย ขงเบ้งว่าแม้ซุนกวนจะเป็นนายที่ดี แต่ดูสภาพอารมณ์และความคิดนิสัยแล้ว เขาทำได้เพียงเคารพนบนอบ แต่ไม่อาจนำเอาสติปัญญาของเราไปใช้ได้เต็มที่ ภาษาโบราณเขียนว่า “แม้คู่ควรแต่ไม่อาจเป็นคู่คิด”

       หากคุณจะใช้ม้าพันลี้สักตัว คุณต้องรู้ว่าม้าดีพันธุ์นี้ต้องการอะไร คนบอกว่าต้องการหญ้าดี แท้จริงแล้วแค่นั้นไม่พอหรอก มันต้องการทุ่งหญ้าที่ดีด้วย คุณเอาแต่เลี้ยงมันด้วยหญ้าหวานชั้นเลิศ ขังในคอกชั้นสูง แต่ไม่เคยให้มันออกวิ่ง  มันก็ไม่พอใจ ขงเบ้งก็เป็นแบบนี้ เอาแต่เลี้ยงดู ไม่ยอมใช้งานให้เต็มที่ เขาถึงไม่ไป อยู่กับเล่าปี่แล้วเขาแน่ใจว่าเขาจะได้ทั้งหญ้าดีและทุ่งกว้างให้ออกวิ่งแน่นอน ความเชื่อใจนี้มีมาตั้งแต่สมัยสามเยือนกระท่อมหญ้าแล้ว

       ถามว่าเล่าปี่ให้พื้นที่ทุ่งหญ้ากับขงเบ้งมั้ย ก็ให้แหละ แต่ให้ไม่หมด ตอนได้ขงเบ้งมาใหม่ๆ  ขงเบ้งออกวิ่งเต็มที่ เผาซินเอี๋ย เผาทุ่งพกบ๋อง จับมือกับซุนกวนและผองเพื่อน ทั้งให้อำนาจจัดการการคลัง การปกครอง เศรษฐกิจ ปกครองเลงเหลง เตียงสา ฮุยเอี๋ยง ขงเบ้งยิ่งใหญ่มาก งานอะไรก็ทำได้หมด แต่มาภายหลังศึกผาแดง ก็เกิดความเปลี่ยนแปลงในชีวิตขงเบ้ง แม้ขงเบ้งจะได้รับแต่งตั้งเป็นแม่ทัพทหารหลวง แต่งานหลักกลับเป็นการอยู่เฝ้าบ้าน อีตอนยึดเสฉวน เล่าปี่ก็ใช้บังทอง หวดเจ้ง เหลือขงเบ้งไว้กันบ้าน

       ตอนบุกยึดฮันต๋ง มีบันทึกไว้ว่า “นายออกรบ เบ้งอยู่เฝ้าเมืองหลวง จัดการงานทุกอย่าง” ไอ้งานทุกอย่างนี่รวมมันทุกอย่างตั้งแต่การคลังการปกครองจนการทูต ขงเบ้งจัดการได้ดีเยี่ยม ช่วงหลังๆในชีวิตขงเบ้งในระยะนั้นเอาแต่เฝ้าเมือง กระนั้นเขาก็ได้ละวางตัวตนในรูปแบบกุนซือสมัยถกยุทธการหลงจง หันมาจับงานปกครอง งานทุกอย่างที่ไม่ใช่แนวเสนาธิการที่ปรึกษาทัพควรจะทำเลย เขาทำโดยไม่บ่น ไม่ต่อต้าน ใช้ให้ทำก็ทำ ฉะนั้นจึงขอพูดว่า “ผู้มีความสามารถ ไม่ว่าจะจับงานด้านไหน สภาพของงานนั้นก็จะออกมาดีเสมอ และจะเชื่อฟังคำสั่งอย่างถึงที่สุดมิคัดค้าน”

       สมมุติว่าคุณคือยอดฝีมือพิณอันดับหนึ่งแห่งแผ่นดิน เข้าร่วมงานชุมนุมชาวดนตรี จำเป็นมั้ยที่จะต้องขึ้นไปดีดโชว์เพลงยอดนิยมท็อปชาร์ตในตอนนั้น ไม่ต้อง คุณต้องดูวาทยกร แล้วค่อยดูโน้ตเพลง วาทยกรคือผู้นำ โน้ตเพลงก็คือโครงงาน หากคุณไม่ดูอะไรเลย เอาแต่บรรเลงเพลงที่คุณถนัด ยิ่งคุณทำเก่งเท่าไหร่ ยิ่งทำความเสียหายให้แก่วงดนตรีมากเท่านั้น  สมัยนี้บัณฑิตจบใหม่ไฟแรงทำงานที่ตนถนัด ทว่านายกลับไม่พอใจ คนทั่วไปเคลือบแคลงสงสัย เพราะทำโดยไม่ดูประสงค์ของเจ้านาย ไม่ดูโครงสร้างงานนั่นเอง คนเก่งจริงต้องเรียนรู้งานอื่นได้ จับงานอื่นโดยไม่บ่น ขงเบ้งก็เป็นพวกแบบนี้

       แต่ถึงแม้ว่าขงเบ้งจะทำงานแบบ 不挑肥拣瘦 ไม่เลือกมาก ทำงานแนวหลังโดยไม่บ่นว่า ก็ยังไม่ทำให้คนอืนไว้ใจได้เพียงพอ ขงเบ้งต้องการได้รับความสนับสนุน ก็ใช้ออกด้วยแผนที่สาม นั่นคือ....

  • สาม พูดอย่างอ่อนแอ โชว์ความพึ่งพิง
       เราจะเห็นความคิดนี้จากฏีกาออกศึก มีอยู่ท่อนนึงที่เขียนได้กินใจมาก ที่จริงบทความนี้เขียนได้อย่างสูงส่ง หากคุณเอาแต่อ่านเพื่อซาบซึ้ง แปลว่าคุณยังไม่มีวิสัยทัศน์ดีพอ ต้องเอาความสูงส่งด้วย บทนั้นกล่าวไว้ว่า  

       臣本布衣,躬耕南阳,苟全性命于乱世,不求闻达于诸侯。
เดิมกระหม่อมเป็นสามัญชน ทำไร่ไถนาที่หนานหยาง เพียงขอรักษาชีวิตในกลียุค ไม่คิดถามหายศศักดิ์

       先帝不以臣卑鄙,猥自枉屈,三顾臣于草庐之中,谘臣以当世之事,由是感激,遂许先帝以驱驰。
ปฐมกษัตริย์ไม่ถือข้าต้อยต่ำ ลดศักดิ์เสียเกียรติ์ มาเยือนกระหม่อม สามครั้ง ณ กระท่อมหญ้า
ไต่ถามกระหม่อมเรื่องบ้านเมือง เพราะว่าซาบซึ้ง แล้วจึงให้องค์ปฐมกษัตริย์ได้ช่วงใช้ 


(สำนวนของคุณอ๋อง นิธิพันธ์ แฟนพันธุ์แท้ราชวงศ์จีน อ่านตัวเต็มได้ที่ http://ongchina.wordpress.com/2012/03/09/%E0%B8%8E%E0%B8%B5%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%88%E0%B8%B9%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B9%8B%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B5/)

       จะเห็นได้ว่าในบทนี้ขงเบ้งพูดได้แบบสุภาพ ลดตนมาก ยิ่งไปกว่านั้น คำพูดเล่านี้เขาใช้กับทายาทรุ่นหลัง มิใช่นายเก่าที่อาวุโสกว่า ตอนพูดกับนายรุ่นหลานยังขนาดนี้ แล้วตอนอยู่กับนายรุ่นแรกล่ะ จะขนาดไหน ที่ขงเบ้งลดตนต่ำขนาดนี้ เขามีเหตุผลของเขาอยู่ หลักจิตวิทยาพบว่ามนุษย์เราเป็นสิ่งมีชีวิตที่อิจฉาคนที่แข็งแก่กว่า พอเจอคนที่อ่อนกว่าจะลดความเกลียดชังและความอิจฉาลงได้บ้าง และนอกจากนี้ คนที่ทำตนอ่อนแอจะดูเหมือนกับว่ามีความไว้ใจได้ ไม่เปลี่ยนแปรง่ายๆ ความอ่อนน้อมจะทำให้คนจดจำและสนับสนุนได้ดีกว่า คุณต้องทำตนอ่อนน้อมอ่อนแอเป็น ถึงจะได้รับความเห็นใจ

       ยกตัวอย่างง่ายๆ มีอาจารย์ท่านหนึ่ง แต่งงานกับหญิงคนหนึ่งได้สามสิบปีแล้ว ความรู้สึกที่มีให้กันยังคงดีอยู่ ลูกหลานไปอยู่ต่างแดนกันหมด ลูกศิษย์วัยรุ่นก็ไปหาอาจารย์ท่าน ถามว่าทำยังไงถึงรักกันได้ยืนยาวขนาดนี้น่ะ อาจารย์บอกว่าไม่มีอะไรมาก คือฉันเนี่ยเลือกกิน ถ้าไม่ได้กินข้าวที่เมียทำ มันไม่อร่อย กินไม่ลงว่ะ ยอมอดตายดีกว่า ข้างฝ่ายเมียอาจารย์ก็ว่าฉันมีเป็นโรคประสาทอ่อนๆ กลางคืนจะนอนไม่หลับ ถ้าไม่มีตาแก่นี่มานอนข้างกาย พอนอนแล้วก็ชอบหายใจเป็นจังหวะโหล พอหายใจถึงโหลที่สามเมื่อไหร่นั่นแหละฉันถึงจะนอนได้ อาจารย์เสริมว่าเราสองผ่านชีวิตกันมาแบบนี้แหละ แล้วก็หัวเราะให้กัน

       ทว่าความจริงกลับไม่เป็นแบบนั้น ครั้งหนึ่งอาจารย์ต้องไปงานสัมมนาวิชาการ เพื่อนอาจารย์ด้วยกันเห็นอาจารย์คนนี้ตักได้ตักเอา กินไม่มียั้ง จากนั้นก็มีคนโทรไปคุยกับหลาน ถามว่าป้าตอนนี้เป็นไงมั่ง หลานตอบว่าป้าพอหัวถึงหมอนก็หลับเลย ดูสิว่าต่างคนพอแยกกันแล้วก็อยู่เป็นสุข ปัญหามันอยู่ที่ว่าทั้งคู่บอกว่าแยกจากกันไม่ได้ แถมยังบอกถึงเหตุผลที่จำเป็นในการอยู่ด้วยกันอีกตะหาก ที่น่านับถือก็คือเวลาที่แต่ละคนพูดเหตุผลของตนเองออกไป มักจะนึกเสมอว่าเหตุผลของตัวเองน่ะสร้างมาหลอกๆ แต่ที่อีกฝ่ายพูดมานั้นเป็นจริงแน่ๆ ความรู้สึกนี้แหละที่เสริมแต่งให้กันและกัน นี่ล่ะคือโชว์ความอ่อนด้อย แสดงความพึ่งพา เพื่อได้ใจและความสนับสนุนซึ่งกันของอีกฝ่าย จึงขอกล่าวว่า ความรู้สึกนึกคิดคือการเรียนรู้ที่จะแสดงความอ่อนด้อย มิใช่แสดงความเข้มแข็ง หากบอกว่าสามารถตีจากกันได้ ก็จะเป็นความเย็นชา ไร้ความรู้สึก แต่หากพูดว่ามิอาจแยกจากเธอได้ ความรู้สึกที่ทีจะดีต่อกันมากขึ้น

       คุณต้องทำแบบนี้แหละเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ ขงเบ้งอุตส่าห์เขียนอย่างถ่อมตนในฎีกาออกศึกก็ด้วยเหตุเดียวกัน คนจีนมักคุยกันว่าทำไมหญิงกร้าวมักไร้คู่ เพราะไอ้ความกร้าวนี่แหละ ถือตนว่าดีกว่า แกร่งกว่าตลอด ภาษาจีนมีคำว่า 怜爱 (เอ็นดู) คือ 怜 (เห็นใจ) ก่อน จึงค่อย 爱 (รัก) อยากให้ใครรัก ใครสนับสนุน ไม่ว่าพ่อแม่ พี่น้อง ญาติมิตร คนรัก หรือเจ้านาย ก็ต้องอ่อนน้อม แสดงความอ่อนแอให้เป็น คนที่แกร่งเป็น คือมีพละกำลัง แต่คนที่อ่อนเป็น คือผู้มีปัญญา

       หลังจากที่ได้การยอมรับสนับสนุนแล้ว นายก๊กและขุนนางต่างๆบอกว่าท่านเก่งมาก เราเปิดโอกาสให้ท่านเดินหน้าเต็มตัวเลย ขงเบ้งใช้ออกด้วยแผนที่สี่ นั่นคือ...

  • สี่ สงบมั่นคง ออกตัวไม่รีบร้อน
       จุดนี้ดูจากปัญหาที่เล่าปี่เจอมา คือตอนที่เล่าปี่ยกพวกตีง่อในศึกอิเหลง แล้วแพ้กลับมาขนาดหนัก พอข่าวมาถึงเมืองหลวง ขงเบ้งได้แต่บ่นว่าถ้าหวดเจ้งยังอยู่คงไม่ปล่อยให้เล่าปี่ไปรบ หรือถ้ารบก็ไม่เสียหายหนักขนาดนี้ คำพูดนี้ทำให้เกิดข้อครหามากมาย มีคนบ่นว่าก็แกยังอยู่ไม่ใช่เหรอ ทำไมไม่คัดค้านไปล่ะ ทำไมไม่ช่วยเขาวางแผนรบ ปัญหาข้อนี้ลึกซึ้งมาก ในที่นี้เราจะไม่ใช้เหตุผลตามหลักประวัติศาสตร์ที่คนวิเคราะห์ไว้เยอะแล้ว แต่เราจะใช้หลักจิตวิทยาและการบริหารจัดการมาวิเคราะห์ดูแทน

       ก่อนอื่นเรามาดูแรงจูงใจในการทำสงครามของเล่าปี่ มีคนบอกใครๆก็รู้ ก็แก้แค้นให้กวนอูไง หนังสือบอกไว้นี่ บทแรกไง ที่สามคนสาบานกันว่าจะขอตายวันเดือนปีเดียวกัน แล้วน้องรองกวนอูโดนพวกง่อก๊กฆ่า เราก็ต้องยกพวกไปยำมันสิ เหตุผลนี้เหมาะมั้ย ก็เหมาะอยู่ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะนี่แค่อ้างอิงตามตรรกะของนิยาย ในบันทึกซานกว๋อจี้ไม่เคยกล่าวถึงเลย ทั้งเล่าปี่ต้องรอสามปีถึงจะไปแก้แค้น ทำไมไม่รีบไปแก้แค้นแต่เนิ่นๆ มีคนบอกว่า อ้าว ก็ต้องรวบรวมพล ระดมเงินทุนไง อ่ะ ข้อนี้ก็เป็นไปได้อยู่

บันทึกประวัติศาสตร์ไม่มีเขียนเรื่องสาบานอะไรเลย มีแต่บันทึกเรื่องนอนเตียงเดียวกัน

       ทีนี้มามองในมุมมองอื่นบ้าง ตอนที่เล่าปี่ออกรบในศึกอิเหลงนั้นเป็นปีที่สองที่เขาตั้งตนเป็นฮ่องเต้ ต้องการแสดงบุญญาธิการ ประกาศศักดาให้โลกรู้ อยากขยายดินแดน แต่ถ้าไปตีวุยก๊กก็เหมือนเอาไข่ไปกระแทกหิน จะจุกเอาเปล่าๆ มีแต่ง่อก๊กนี่แลที่พอฟัดพอเหวี่ยง เล่าปี่ออกรบรอบนี้มีทั้งเหตุผลทางใจ และทางการเมือง สถานการณ์ในตอนนั้นวุยก๊กยิ่งใหญ่ที่สุด รองลงมาคือง่อ จ๊กก๊กรั้งท้าย แล้วการที่ก๊กอันดับสามฟาดปากก๊กอันดับสอง อันดับหนึ่งมีแต่จะดีใจ รอให้ฝ่ายไหนตายก่อน เราค่อยกระทืบซ้ำ หรือไม่ก็อาจจะสนับสนุนจ๊กก๊กช่วยตีง่อ พอเผลอๆก็เก็บมันทั้งคู่ในคราวเดียว

       เหตุผลเหล่านี้ขงเบ้งล้วนมองออก แถมมองออกมานานแล้ว ดูได้จากตอนถกยุทธการหลงจง ขงเบ้งกำหนดไว้ว่าให้ร่วมมือกับซุนกวน ล่าล้างโจโฉ ทว่าตอนเล่าปี่ฮึดฮัดจะไปรบกับง่อก๊ก ขงเบ้งไม่ได้ออกปากคัดค้านเลยสักแอะ คนแรกๆที่คัดค้านการก่อสงครามคราวนี้คือจูล่ง ตามมาด้วยมวลชนชั้นขุนนาง ก็คนคัดค้านเยอะซะขนาดนี้ ทำไมขงเบ้งไม่เข้าร่วมด้วยล่ะ คัดค้านไปเลย หากเล่าปี่ไม่ฟัง ก็รวมตัวกับขุนนาง ให้ขงเบ้งเป็นแกนนำ หากเล่าปี่ยังไม่ฟังอีก ขงเบ้งจะอารยะขัดขืน ไม่ทำตามหน้าที่ ไม่วางแผน ไม่ส่งเสบียง ดูซิว่าจะไปรบยังไง

       หากขงเบ้งทำตามนี้ นับว่าอันตรายมาก หากเขารวมพลังมวลชน คัดค้านเล่าปี่ที่ทีตำแหน่งฮ่องเต้ในครานั้น ข้อหาเบาหน่อยคือก่อม็อบประท้วง หนักเข้าก็คือก่อกบฏ กระทำการปฏิวัติ ของพวกนี้ขงเบ้งทำได้แค่คิด ไม่อาจยอมรับได้ เล่าปี่ที่อยากทำสงครามจนคลั่ง รีบร้อนแต่จะออกรบจนลืมหลักเหตุและผล ขงเบ้งทำได้แต่ปล่อยวางกับความคิดเห็น ปล่อยให้เล่าปี่ลงมือไปก่อน จึงรั้งอยู่แนวหลัง รอคำสั่ง ไม่ออกไปรบในแนวหน้าด้วย พอเล่าปี่พ่าย หนีตายไปเมืองเป๊กเต้เสีย ก็ได้ส่งคนไปตามตัวขงเบ้งที่เมืองหลวง ขงเบ้งในตอนนั้นคิดว่าถ้าเล่าปี่ไม่ตาม ก็จะไม่ไป แต่ถ้ามาตามก็จะรีบไป พอมาถึง เล่าปี่ก็ฝากฝังให้ขงเบ้งจัดการเรื่องราวต่างๆ

       ก่อนหน้านี้เราพูดกันว่าหลังจากศึกผาแดง เล่าปี่ก็ไม่ได้ใช้ขงเบ้งในฐานะกุนซือ ทำงานใหญ่อีกเลย แต่ครั้นพอใกล้จะตาย กลับมอบหมายหน้าที่ใหญ่ๆทั้งหมดให้ขงเบ้งทำ เล่าปี่ทำแบบนี้ คาดเดาได้สองอย่าง หนึ่งคือเล่าปี่ซาบซึ้งในหลักการทำงานของขงเบ้ง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ สมัยนั้นหากผู้นำใช้กุนซือทำงาน หากไม่ทำ เขาก็ไม่เห็นดีเห็นงาม ถ้าทำไม่ดีก็โกรธ โมโห แต่ถ้าทำดีเลิศก็พาลให้ไม่ไว้วางใจอีก เล่าปี่ยอมรับและไว้วางใจแล้ว จึงฝากฝังให้ขงเบ้งสานต่อ อีกเหตุผลหนึ่งที่เล่าปี่ฝากฝังขงเบ้งคือเขาคิดว่ายุทธศาสตร์หลงจงที่เคยวางแผนไว้นั้นถูกต้องแล้ว เขาเพิ่งจะยอมรับอย่างเต็มตัว ตัวองทำผิดหลักการนี้ไปหน่อย อยากให้ขงเบ้งซ่อมแซม สานต่อแผนนี้ให้สำเร็จ

       ขงเบ้งในเวลานี้เขาได้รับมอบอำนาจเต็มตัว มีโอกาสได้จับงานการทหารและการเมืองการปกครองอย่างเต็มที่เป็นครั้งแรกในชีวิต นับตั้งแต่ขงเบ้งลงจากเขามา นี่จะเป็นช่วงเวลาที่เขาจะเป็นตัวแสดงเด่นในเวทีของจ๊กก๊ก ทว่าฉากของเวทีนี้ก็ไม่ได้สวยหรู อันตรายรอบด้าน ลึกลับซับซ้อน แล้วขงเบ้งจะใช้วิธีใดเผชิญหน้า เขาจะเจอความลำบากแบบไหนบ้าง กลยุทธ์ใดที่เขาจะนำพาก๊กให้รอดจากอันตราย นำพาก๊กไปสู่รูปแบบใหม่ได้ เชิญติดตามต่อตอนหน้าครับ


4 ความคิดเห็น:

  1. คำตอบ
    1. อ้า ผมเขียนแค่เดือนละครั้งน่ะครับ บทความครั้งต่อไปจะมาตอนวันปีใหม่โน่นเลย เอาให้อ่านยาวๆกันไปเลย

      ลบ
  2. ขอบคุณมากค่า

    รอตอนต่อไปเหมือนกันค่า สู้ๆ ^^

    ตอบลบ
  3. ปี 59 แล้วผมยังอ่านอยู่เลยครับ เป็นบทความที่ดีที่สุดเท่าที่ผมเคยเจอในอินเตอร์เน็ตเลยครับ

    ตอบลบ