วันพุธที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2556

รู้อย่างขงเบ้ง (6) : สูตรลับแห่งความมั่นคงในราชอาณาจักร

       ในชีวิตจริงของคนเรา เวลาทำงานต่างๆ เราคงไม่อยากเจอสถานการณ์ที่คนในแผนกทุกคนต้องมานั่งกังวลใจ ทว่าในยามที่คนในหน่วยงานเราต้องพบกับการเปลี่ยนถ่ายอำนาจ ในระหว่างช่วงนี้ หลายคนอดที่จะไม่กังวลใจมิได้ เพราะมักมีข่าวลือแปลกๆเสมอ ในยามที่ขงเบ้งรับมอบอำนาจจากเล่าปี่ มาจับงานของผู้นำอย่างเต็มตัว ก็ต้องพบกับความไม่มั่นใจของคนในก๊กอย่างไม่อาจเลี่ยงได้ ขงเบ้งใช้วิธีใดสยบใจคน พาทีมให้รอดกันหรือ คนยุคนี้ควรเรียนรู้ เลียนแบบอะไรจากเขาได้บ้าง อาจารย์เจ้าเก่า 赵于平 เล่าในสไตล์  麻辣说三国 เหมือนเดิม ในหัวข้อ “ตำรับลับกล่อมใจคน”


       ฤดูใบไม้ร่วง เดือนสิงหา ปี ค.ศ.223 ฮ่องเต้วัยละอ่อนเล่าเสี้ยนเพิ่งจะครองบัลลังก์ นั่งได้ไม่นานเท่าไหร่ก็ต้องมีเหตุให้นั่งไม่ติดที่ เนื่องด้วยว่าภัยใหญ่กำลังคุกคามจ๊กก๊ก วุยก๊กจะทำสงครามห้าทัพ ยกมาในทิศทางต่างๆรอบก๊กเลย ประกอบไปด้วยทัพโจจิ๋น ยกมาสิบหมื่น เข้าทางด่านเองเป๋งก๋วน ทัพที่สองคือทัพเบ้งตัด ยกจากส้างหยง จำนวนสิบหมื่น เข้ามาตีทางฮันต๋ง ทัพที่สามจากซุนกวน ยกมาทางแฮเค้า จำนวนสิบหมื่น ทัพที่สี่ กษัตริย์เกี่ยงนามคอปี่ ยกมาสิบหมื่นเข้าทางเซเปงก๋วน ทัพสุดท้าย ทัพเบ้งเฮ็ก ยกเข้ามาตีเอ๊กจิ๋วสี่เมือง

 แผนที่เดินทัพของวุยก๊กตามนิยายโดยสังเขป

       ห้าทัพนี้รวมกำลังได้ห้าสิบหมื่น หมายจะยกมาเผด็จศึกในทีเดียว จ๊กก๊กต้องพบกับศึกครั้งใหญ่ที่สุดนับแต่การสร้างก๊กมา แถมขนาดและขุมกำลังก๊กในตอนนั้นก็หดลงไปเยอะเลยทีเดียว ห้าทหารเสือตายไปแล้วสาม แถมหลังศึกอิเหลงมา ทหารยังไม่ฟื้นตัวดีเลย เล่าเสี้ยนได้แต่เอามือก่ายหน้าผาก แถมในก๊กยังเกิดปัญหาใหญ่ขึ้นอีกอย่าง ท่านสมุหนายกจูกัดเหลียงก็ดันไม่เข้ามาทำงานอีก นอนเปื่อยอยู่บ้าน ประตูปิดมิดชิด คนก็สงสัยว่าทำไมขงเบ้งหยุดงานไปดื้อๆ คนรุ่นหลังก้ว่าขงเบ้งไม่พอใจอะไรหรือเปล่า เขากลายเป็นคนไม่ซื่อสัตย์ สองจิตสองใจไปแล้วหรือ

       เล่าเสี้ยน ฮ่องเต้ป้ายแดงเห็นว่าไม่ได้การ จะต้องไปดูด้วยตาของตนเองให้แน่ชัด พอมาถึงหน้าประตู ก็ถามยามหน้าบ้านว่าท่านนายกไปไหนหรือ ยามได้แต่ส่ายหน้า ตอบว่าผมก็ไม่รู้ จะสังเกตได้ว่าขงเบ้งชอบเล่นกลยุทธ์นี้กับครอบครัวตัว “เล่า” มาก คือเวลาสำคัญมักไม่ค่อยอยู่ให้เจอหน้า คนพ่อโดนไปสมัยสามเยือนกระท่อมหญ้า คนลูกก็กำลังจะเจอแบบเดียวกัน เล่าเสี้ยนก็ลงจากรถ เดินเข้าประตูบ้าน ก็ไปเห็นขงเบ้งกำลังเปลี่ยนเสื้อ ในมือถือเบ็ด ออกไปนั่งที่ริมสระ ที่เต็มไปด้วยปลาทอง ลองคิดสิว่าในใจของเล่าเสี้ยนตอนนั้นจะคิดยังไง

       ความรู้สึกของเล่าเสี้ยนคงประมาณว่าข้าร้อนรนจะเป็นจะตาย แต่ท่านกลับมานั่งดูปลาหน้าตาเฉย ไม่เห็นหัวข้าเลยหรือ นิยายซานกว๋อเหยี่ยนอี้เขียนไว้ว่าเล่าเสี้ยนยืนจ้องอยู่ด้านหลังขงเบ้งนานพอดู จึงค่อยเปิดปากพูดอย่างช้าๆ การกระทำสองอย่างของเล่าเสี้ยนนี้แสดงให้เห็นถึงใจของเล่าเสี้ยนที่ตอนนี้ทั้งแปลกใจระคนกับโมโห ผสมกับความสิ้นหวังหน่อยๆ เขาพูดอย่างช้าๆว่า “ท่านสมุหนายก สบายใจจังนะ?” ขงเบ้งจึงค่อยๆหันหน้ากลับมาประจันกับฮ่องเต้องค์ใหม่นี่ ปล่อยให้เล่าเสี้ยนบ่นว่าไปสักพัก จึงค่อยหัวเราะออกมาดังๆ แล้วอธิบายว่ากระหม่อมไม่ได้นั่งดูเปล่าๆนะ แต่กำลังนั่งคิดแผนตะหาก

       จากนั้นขงเบ้งจึงอธิบายแผนของตัวเองให้ฟัง แต่ก่อนจะเล่าแผน เรามาดูกันก่อนว่าทำไมขงเบ้งจึงไม่ไปเข้าวังทำงาน กลับมานั่งดูปลาอย่างชิลๆ เขามีเหตุผลทางจิตวิทยารองรับอยู่เบื้องหลัง ซานกว๋อเหยี่ยนอี้ขนานนามตอนนี้ไว้ว่า “安居平五路 นั่งอยู่บ้านสยบห้าทัพ ห้าทัพนี่ก็แค่ 虚张声势 ของหลอกเด็ก สงบได้ง่ายดาย แต่ปัญหาที่ควรจัดการก่อนอันดับแรกไม่ใช่การจัดทัพ แต่เป็นการสงบใจคน หากขงเบ้งเข้าๆออกๆวังหลวง จะพาทุกคนสับสนอลหม่านเอา

       ขงเบ้งที่นั่งฟังเพลง ดูปลาอยู่บ้าน เพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้นำอย่างเราน่ะไม่เดือดร้อนนะ ลองนึกภาพตามดู หากเราเห็นภาพของผู้นำที่ไม่ร้องไห้ออกสื่อ เอาแต่ยิ้มอย่างมั่นใจ คนรอบข้างจะคิดว่าเขาไม่รีบร้อนหรือหวาดกลัวอะไร คงเรื่องจิ๊บๆแหละม้าง ทำไมเราจะต้องไปเดือดร้อนตามเขาล่ะ เสริมความมั่นใจให้คนรอบข้าง พอฝ่ายตรงข้ามเห็นก็จะไม่รู้ตื้นลึกหนาบาง ก็จะไม่รีบร้อนลงมือ ประวิงเวลาได้อีกหน่อย ฝ่ายเราไม่ตระหนก ฝ่ายตรงข้ามไม่รีบร้อน ภาพรวมของศถานการณ์จึงสงบขึ้นมาได้บ้าง จึงขอกล่าวว่าในยามสำคัญ ผู้นำต้องทำให้ลูกน้องมีใจสงบนิ่ง จึงจะคุมสถานการณ์ได้อยู่มือ ไม่อาจให้ร้อนรนอลหม่านได้ 

อยู่บ้านสยบห้าทัพ อีกเรื่องหนึ่งที่มีเพียงในนิยาย
       การสงบใจของผู้นำ ถือเป็นก้าวแรกของการจัดการปัญหาทั้งมวล ขั้นตอนต่อไปคือมีวิธีการแก้ปัญหารองรับ ขงเบ้งแจกแจงวิธีการรับเส้นทางทัพสายต่างๆไว้ว่า ให้ม้าเฉียวไปยันทัพที่เซเป๋งก๋วน จัดทัพไปใหญ่หน่อย ด้วยฝีมือม้าเฉียว ต้องชนะกลับมาแน่ ต่อมาก็ให้อุยเอี๋ยนไปรับมือเบ้งเฮ็ก อันนี้ทัพน้อยหน่อยก็ได้ ให้จัดทัพเดินเข้าเดินออก ติดธงประดับประดาเยอะหน่อย เบ้งเฮ็กก็กลัวแล้ว แล้วต่อไปก็สั่งการให้จูล่งไปกันด่านเองเปงก๋วน ด่านนี้รับง่ายบุกยาก ฝีมือของจูล่งเอาอยู่แน่ๆ ด้านทัพเบ้งตัดนี่เล่นง่ายหน่อย เห็นว่าเป็นเพื่อนสนิทกับลิเงียมนิ ให้ใครปลอมลายมือลิเงียมเขียนจดหมายส่งไปต่อว่าหน่อยเป็นใช้ได้ ส่วนทัพซุนกวนไม่ต้องทำอะไรมัน พอเห็นทัพอื่นไม่บุกเดี๋ยวมันก็กลับไปเอง เพื่อกันความผิดพลาด ขงเบ้งจะจัดทัพเสริมไปสามหมื่น โดยมีกวนหินเตียวเปาเป็นตัวหลัก รอสนับสนุนด้านที่เสียหาย แค่นี่ก็เรียบร้อย

     เล่าเสี้ยนฟังจบ จากหน้าบึ้งเป็นรอยยิ้มทันที ภูเขาอันแน่นอก มีเทวดามายกออกไปได้ ก็สงบลง หัวเราะออก ร้องเพลงได้ ก่อนหน้านี้จะมาเอาโทษอยู่แท้ๆ ตอนนี้มานั่งจิบเหล้าแล้วก็กลับวังไป

       ทีนี้จะมาแจกแจงวิธีสงบใจคนสี่อย่างของขงเบ้งกัน

  • ข้อแรก สงบใจทีมงาน ให้ยังเข้าประจำที่
       จะคุมวงกลม ก็ต้องอาศัยการคุมจุดศูนย์กลางให้อยู่ ถ้าจุดศูนย์กลางไม่แน่ชัด ยังไงก็เป็นวงกลมไม่ได้ อย่างดีก็ได้แค่วงรี จะสงบใจทีมงาน ต้องคุมใจหัวหน้ากลุ่มให้อยู่ให้ได้ก่อน ถามว่าอะไรคือ “เข้าประจำที่” ก็คือจัดสรรให้ทีมงานแต่ละคนทำหน้าที่ของตัวเองอย่างรวดเร็ว นี่จึงสามารถหลีกเลี่ยงความวุ่นวาย ความขัดแย้งได้ ขอให้ทุกคนลองดูว่าแต่ไหนแต่ไรมา การเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนถ่ายอำนาจทางการเมืองการปกครอง สิ่งหนึ่งที่มักเป็นปัญหาโดยตลอดก็คือการแก่งแย่งตำแหน่งหน้าที่ ลองนึกถึงการนั่งรถไฟ (ในจีน) ดูสิ พอเดินเข้าตู้รถไฟได้ พนักงานก็จะประกาศว่าขอทุกท่านโปรดหาที่นั่งให้ตนเองอย่างรวดเร็วด้วย ถามว่าทำไมต้องรวดเร็ว เพราะพอนั่งได้ก็สบายใจ มีที่นั่งก็ไม่วุ่นวาย เกิดความเป็นระเบียบ

       เช่นเดียวกับทีมงาน คุณต้องจัดสรรตำแหน่งให้เขาเข้าทำโดยเร็ว ก็เหมือนกับตอนเล่นเก้าอี้ดนตรี หากเก้าอี้ไม่มีการปิดป้ายชื่อไว้ ทุกคนก็จะคว้าเก้าอี้กันอย่างอลหม่าน แต่ถ้าติดป้าย ทุกคนก็จะนั่งได้สบายใจ ไม่ชุลมุน (แล้วมันจะสนุกตรงไหนเนี่ย?) ขงเบ้งรีบระบุตำแหน่งให้คนเข้าไปนั่ง ความวุ่นวายจะได้ไม่เกิด แต่ก่อนที่จะจัดสรรตำแหน่ง จัดหาตัวคน ขงเบ้งลงมือทำสิ่งหนึ่ง ซึ่งจำเป็นต่อการจัดระเบียบจิตใจ แถมถูกละเลยได้ง่ายมาก นั่นก็คือการทำให้สาธารณชนเกิดความมั่นใจ ด้วยการเอาพินัยกรรมของเล่าปี่มาเปิดเผย ลงหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่งตัวโตๆ

       ถามว่าทำแบบนี้ไปทำไม เราทุกคนคงเคยประสบมาบ้าง เมื่อเกิดเหตุการณ์ใหญ่ๆในประเทศ สิ่งหนึ่งที่มหาชนต้องการมากที่สุดคือความเชื่อมั่น ทุกคนอยากทำความเข้าใจกับภาพรวม ต้องการความจริง การสงบใจสาธารณชนถือเป็นข้อสำคัญ ในขณะที่คนกำลังแก้ไขปัญหาสำคัญ ส่วนมากมักจะละเลยการกระทำข้อนี้ คือไม่สนใจให้ความเชื่อมั่นแก่คนทั่วไป ไม่สนใจประกาศข้อมูลล่วงหน้า ให้มหาชนได้แลกเปลี่ยนข้อมูล ผู้นำหลายคนมักคิดว่ายังไม่ได้เริ่มเป็นรูปธรรมเลย ไว้ลงมือเสร็จแล้วค่อยประกาศว่ามันดียังไง เจ๋งแค่ไหน ผลที่ได้มักออกมาแย่กว่าที่คิด 

       คนเรามักมีความต้องการด้านข้อมูล หากคนแก้ไม่พูด ก็จะมีคนอื่นมาพูดให้ บนที่ดินแห่งข้อมูลข่าวสารของเรา หากเราไม่ปลูกผัก ก็จะมีคนอื่นมาปลูกพืชอื่นแทน ซึ่งมักจะเป็นวัชพืช พืชมีพิษ ข่าวลือจะแพร่สะพัดไปตามที่ต่างๆ ในกลุ่มชนบ้าง บนเน็ตบ้าง มหาชนถูกขับเคลื่อนด้วยข่าวลือ หมดความเชื่อมั่น จากเรื่องดีจะกลายเป็นเรื่องร้าย สถาณการณ์แย่ลงไปอีก ฉะนั้น การจะสงบใจประชาชน ต้องให้คนมีความเชื่อมั่นก่อนเลย

       ขงเบ้งประกาศเนื้อหาของพินัยกรรมที่เล่าปี่เขียนไว้ก่อนตาย ในบันทึกซานกว๋อจื้อได้บอกว่าแบ่งออกเป็นสามส่วน ส่วนแรกระบุอาการป่วย เขียนไว้ว่าข้าปวดท้อง ท้องเสีย อาการหนักมาก หมดทางเยียวยา ได้ยินว่าคนอยู่ได้ถึง 50 ปี นี่ก็ยาวพอดู อยู่มาจะหกสิบกว่าแล้ว ถือว่าไม่เสียที เรามาดูคีย์สำคัญในพินัยกรรมฮ่องเต้กัน คือมักจะเขียนว่าฮ่องเต้ตายยังไง ตายลักษณะไหน ปัญหานี้จะว่าเล็กก็เล็ก ว่าใหญ่ก็ใหญ่ นอกจากนี้พินัยกรรมยังแฝงไว้ด้วยนัยยะอันอึมครึมทางการเมืองการปกครอง อาจจะเกี่ยวข้องกัน สืบค้นได้ แต่งเสริมได้ ป้ายสีได้ หากมีคนนำสาเหตุการตายของฮ่องเต้มาเขียนเป็นบทความได้ บทความนั้นจะต้องยิ่งใหญ่แน่ๆ คนที่เขียนได้ต้องไม่ธรรมดา และมีคนหลายคนรอบทความแบบนี้อยู่ในสังคมอย่างมากมาย

       พินัยกรรมนี้เปิดตัวด้วยสาเหตุการตาย และยังมีพื้นที่ให้เจ้าตัวได้ออกความคิดเห็น ทุกคนย่อมเชื่อถือ การระบุสาเหตุชัดเจน และบ่งบอกว่าไม่เสียใจอย่างชัดแจ้ง นี่ทำให้คนคลายใจไปเยอะ พูดถึงจุดนี้ต้องขอนับถือเล่าปี่เขา เริ่มมาไม่พูดถึงการปกครอง เศรษฐกิจ การรบรุก ไม่พร่ำบ่นอุดมการณ์ เรื่องราวสังคม ประชาไพร่ฟ้า เพียงพูดถึงสาเหตุการตายและอารมณ์ส่วนตัว เอาความจริงและความในใจมาพูดชัดเจน พินัยกรรมนี้ทำให้คนที่สงสัยในการตายได้คลายปมปัญหา ทั้งยังให้พวกสร้างข่าวลือหมดข้ออ้างกุเรื่องไปด้วย

       ส่วนที่สองของพินัยกรรม กล่าวสนับสนุนกับลูกหลานที่เหลืออยู่ไม่กี่คน บอกในทำนองว่าลูกเอ๋ย จะเริ่มงานใหญ่ต้องทำจากงานเล็กๆก่อน การทำเลวก็เหมือนเลี้ยงม้า ไม่ว่าเรื่องเลวจะเล็กจะใหญ่ เพียงแค่คิดก็เหมือนปลดบังเหียนจากม้าป่า จะไล่จับทีหลังก็จับไม่อยู่ หยุดก็หยุดไม่ได้ การทำดีก็เหมือนปลูกพืช ขอแค่คิดก็เหมือนเริ่มเพาะหน่ออ่อน อย่าดูถูกว่ามันต้นเล็ก ผ่านไปไม่นานเดี๋ยวมันก็จะเติบใหญ่ ผลิดอกออกผลให้เราได้ใช้ประโยชน์เอง ถามว่าทำไมเล่าปี่สอนลูกด้วยเรื่องพวกนี้ เพราะลูกเขาเพิ่งจะวัยรุ่น ไม่ทันไรก็ได้เป็นฮ่องเต้ ตำแหน่งใหญ่โต มีสมบัติพัสถาน เดี๋ยวจะกลายเป็นคนมือเติบ เล็กๆไม่ ใหญ่ๆทำ เล่าปี่บอกให้คนรุ่นที่สองของตัวเองต้องคุมใจตัวเองเป็น เรืองชั่วแมเล็กน้อยก็ไม่เอา เรื่องดีแม้เล็กน้อยก็ไม่มองข้าม

       มาถึงส่วนที่สาม ส่วนนี้เกี่ยวข้องกับขงเบ้งเต็มๆ เล่าปี่บอกว่าขอให้ลูกเห็นท่านสมุหนายกเหมือนพ่อแท้ๆของตัวเอง จงเชื่อมั่นและเคารพในตัวเขา ส่วนนี้เชิดชูศักดิ์ศรีของขงเบ้งมากมาย ขงเบ้งใช้พินัยกรรมนี้ปลอบประโลมประชาชนและขุนนางที่ร่วมงาน เรียกความเชื่อมั่นคืนมา นอกจากนี้ขงเบ้งได้ดำเนินกลยุทธ์อีกหลายชุด เริ่มตั้งแต่ปรับกำลังใจให้เล่าเสี้ยน จัดงานเคารพศพเล่าปี่อย่างใหญ่โต แต่งตั้งบิฮูหยิน กำฮูหยินย้อนหลังให้เป็นฮองเฮา แล้วก็เลื่อนตำแหน่งตนให้เป็นหวู่เซียงโหว ปกครองเอ๊กจิ๋ว เรียกได้ว่าเขาจัดระเบียบจิตใจครบเรื่องทั้งชายหญิง นายบ่าว คนที่ตายแล้วและมีชีวิตอยู่  สิ่งที่ขงเบ้งทำทั้งหมดนี้เรียกว่า 名正则言顺 位定则心安 ความกระจ่างชวนให้สงบวาจา ตำแหน่งตรงพาให้ใจสงบ

  • สอง สงบไม่ออกตัว เสริมแกร่งให้อำนาจ
       มีคนถกเถียงกันมาตลอดว่าขณะที่ห้าทัพกำลังจะเดินเข้าจ๊กก๊ก ทำไมขงเบ้งไม่ไปแจกแจงวิธีช่วยเหลือในสภาหรือวังหลวงเลย กลับนั่งมองปลาเล่นในบ้าน รอให้ฮ่องเต้ไปหาด้วยตนเอง ทั้งๆที่เขาจะเดินไปบอกแผนแต่เนิ่นๆก็ได้ ปล่อยให้กังวลกันทำไม ก่อนจะถกข้อนี้ เรามาพุดถึงรายละเอียดสองอย่างก่อน อย่างแรกคือตอนฮ่องเต้ไปหาขงเบ้งที่บ้าน เจอยามเฝ้าประตูบอกว่าไม่ว่าขุนนางแม่ทัพผู้ใดก็ล้วนแต่ไม่อาจเข้าพบ ข้อมูลนี้บอกเราว่านอกจากฮ่องเต้แล้วคนอื่นก็อย่าหวังจะได้เจอหน้า เขาต้องการพบแค่ฮ่องเต้เท่านั้น

       รายละเอียดที่สอง คือตอนที่เล่าเสี้ยนมาหาขงเบ้งถึงบ่อสระปลานั้น ทั้งขงเบ้งและเขาต่างก็ทำกิริยาเงียบๆ เล่าเสี้ยนยืนเก้ๆกังๆอยู่หลังขงเบ้ง ขงเบ้งก็เอาแต่นั่งตกปลา ทั้งคู่ไม่พูดอะไรเลยอยู่นานมาก กรณีนี้เหมือนตอนสามเยือนกระท่อมหญ้า เล่าปี่เอาแต่ยืนรอขงเบ้งที่หลับอยู่ ขงเบ้งก็กัดฟัดทนนอนรอว่าเมื่อไหร่เล่าปี่จะไปซะที ทั้งหมดทั้งมวลนี้ล้วนแต่เป็นการเสแสร้งเพื่อหวังผล ขงเบ้งรอให้เล่าเสี้ยนพูดก่อน เพื่อหวังจะเอาการกระทำนี้มาเสริมสร้างบารมีให้ตนเอง

       ที่ขงเบ้งต้องใช้วิธีนี้ เพราะช่วงหลังๆตอนที่ขงเบ้งมาทำงานให้เล่าปี่ เขาทำแต่งานแนวหลัง ไม่มีโอกาสได้นำทัพวางแผนศึกอะไรมากมาย พอถึงตอนนี้ปัญหาที่เกิดคือขุนนางแลแม่ทัพเริ่มคลางแคลง ไม่เชื่อใจในตัวขงเบ้ง เกิดขงเบ้งสั่งการแล้วพวกทหารไม่ฟังจะทำไงดี ขงเบ้งจึงต้องดำเนินแผนยืมพลังเสริมบารมี เพื่อเพิ่มอำนาจให้ตนเอง ลองคิดถึงว่าเราเป็นมดตัวเล็กๆดู เราอยู่ๆของเราเกิดมีแมวหมามาเหยียบจะทำไง จะกินฮอร์โมนเร่งโตก็ไม่ได้ เห็ดมาริโอก็ไม่มี วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือไปยืนอยู่บนหลังช้าง ขู่ให้หมาแมวกลัว

       ในชีวิตจริงเราก็เห็นตัวอย่างเดียวกันเยอะแยะ อย่างเช่นว่าเรามีเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งนามว่านายหลิว ทุกคนเห็นว่าก็แค่ตาลุงใจดี แสนจะอ่อนแอเงียบหงิม ไม่เห็นจะมีอะไรเด่น ไปสั่งงานใครเขาก็ไม่ฟัง ผู้นำจึงแก้ปัญหาด้วยการจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ออกสื่อ เชิญเพื่อนของผู้นำ อดีตผู้บริหารที่เกษียณไปแล้ว ผู้เชี่ยวชาญมาชมนายหลิวออกสื่อพร้อมๆกัน ขับดันคุณค่าให้นายหลิวขึ้นไปอีก วิธีแบบนี้เรียกว่าเชิญนั่งเกี้ยว ยิ่งคนชมคนมาหาตำแหน่งยิ่งสูง ศักดิ์ศรีของนายหลิวยิ่งเยอะขึ้น ขงเบ้งต้องการใช้ฮ่องเต้เป็นเครื่องมือเพิ่มคุณค่าตนเองเช่นเดียวกับนายหลิวนี้

       พอถกมาถึงตรงนี้ อีกเรื่องหนึ่งที่ควรพูดถึงก็คือ ไอ้การ ”นั่งชิลๆคิดแผนสยบห้าทัพ” นี่มีจริงหรือเปล่า ก็ปรากฏว่าเรื่องนี้มีเฉพาะในนิยายซานกว๋อเหยี่ยนอี้เท่านั้น บันทึกซานกว๋อจื้อไม่ได้เขียนไว้ ฉะนั้นเรื่องนี้เกิดขึ้นเพียงในวรรณกรรมเท่านั้น หาใช่เรื่องจริงไม่ แม้จะเป็นเรื่องแต่ง แต่ก็แสดงถึงวิธีการแก้ปัญหาที่ฉลาดไม่น้อย ทว่าเรื่องราวในช่วงนี้มีสิ่งที่ ”เกินเรื่องเกินไป” อยู่สองอย่าง อย่างแรกคือเวลาที่ขงเบ้งยักย้ายถ่ายทัพ มีจูล่ง อุยเอี๋ยน กวนเป๋ง เตียวเปา และอื่นๆรวมกันกว่าแสนคน ทว่าเคลื่อนทัพยิ่งใหญ่กันทั้งที ฮ่องเต้ ฝ่ายปกครองส่วนกลางกลับไม่มีใครรู้เรื่อง เหมือนจะเป็นการกระทำอันอุกอาจไปหน่อย

       ยุคนี้สมัยนี้ พอคุณให้อำนาจแต่งตั้งใครมาทำงาน นั่นหมายถึงการอนุญาตให้ใช้อำนาจ แต่ว่ายังคงไว้ซึ่งสิทธิ์ที่จะรู้ข้อมูลอยู่ จะทำอะไรก็ช่าง แต่ขอให้รายงานมาด้วย ไม่ใช่คุณสั่งงานไปแล้วคนถูกสั่งขี่ม้าเปิดแน่บ แล้วก็ไม่รู้ข่าวคราว เป็นสิบเดือน ปีกว่าก็ไม่ทราบผล แบบนี้ใช้ไม่ได้นะ ผู้นำจำเป็นต้องรู้เรื่องราวเสมอ โดยเฉพาะเหตุการณ์ตัดสินความเป็นตายต่อองค์กร ต่อประเทศเรา ไม่รู้เรื่องอาจอนุมานได้ว่ามีแผนสมคบคิดบางอย่างอยู่แน่ๆ ที่เรื่องแบบนี้ไม่มีภัยเกิดขึ้นเป็นเพราะความซื่อของเล่าเสี้ยน และความคาดหวังอย่างสูงของเล่าปี่ ทำให้ขงเบ้งยังอยู่ดีมีแรง ไม่งั้นคงโดนข้อหากบฏไปแล้ว

       อีกเรื่องหนึ่งที่เกินขอบเขตก็คือเจตจำนงของเล่าปี่ ที่ให้ลูกหลานฮ่องเต้เรียกลูกน้องว่าพ่อ ลองไปหาดูได้ว่าแต่ไหนแต่ไรมา ไม่มีฮ่องเต้องค์ไหนเรียกขุนนางใต้อาณัติว่า “พ่อ” อย่างชัดแจ้ง การวางตัวระหว่างขงเบ้งกับเล่าเสี้ยนตามแบบนิยายเป็นอะไรที่ลักลั่นย้อนแย้งอย่างเห็นได้ชัด เมื่อครู่เรายังพูดว่าผู้นำสามารถยกระดับบารมีของลูกน้องได้ แต่ที่ขงเบ้งทำอยู่นี้แทบจะเรียกได้ว่าขี่คอฮ่องเต้อยู่รอมร่อ จากนิยายจะเห็นได้ว่าเราต้องนับถือความภักดีของขงเบ้ง นับถือสายตาและวิสัยทัศน์ของเล่าปี่ และความใจกว้างและอดทนของเล่าเสี้ยน ถ้าไม่มีสามสิ่งนี้ ขาดข้อไหนข้อเดียว จ๊กก๊กจบเห่แน่นอน

       จึงขอพูดว่า ความเชื่อมั่น(จากผู้อื่น)ก็เหมือนแก้วน้ำ ปัญญา(ของตัวเอง)ก็เหมือนน้ำร้อน ยิ่งมีความเชื่อมั่นเท่าไหร่ ก็ใส่น้ำร้อนได้เท่านั้น หากไม่มีความเชื่อมั่นมากพอ ระวังปัญญาจะลวกตัวเองตาย เหตุที่จ๊กก๊กยังเป็นไฟคุกโชนได้ เพราะมีปัญญาและความภักดีแบบขงเบ้ง และความเชื่อมั่นของผู้นำสองรุ่นกำกับอยู่

ขงเบ้งในตอนนี้มีทั้งบารมีสั่งการและความเชื่อมั่นแล้ว ก็ดำเนินกลยุทธที่สาม นั่นคือ

  • สาม แสดงความกล้าหาญ เสริมความมั่นใจ 
       ก่อนหน้าศึกห้าทัพเพียงไม่นานนัก วุยก๊บจ๊กในสมัยขงเบ้งได้มีการปะทะกันแล้ว ทว่าไม่ใช่ด้านการทหาร แต่เป็นด้านการโฆษณาชวนเชื่อ ทางวุยก๊กได้ส่งจดหมายห้าฉบับมาหาขงเบ้ง เพื่อลดทอนกำลังใจในการรบ ในบันทึกซานกว๋อจื้อก็มีเขียนไว้ จดหมายพยายามยวนยั่ว อธิบายสถานการณ์ อ้างคำอาณัติสวรรค์ โน้มน้าวให้ขงเบ้งยอมแพ้ แถมกระทำอย่างใหญ่โต ทำเอาคนในก๊กรู้เรื่องแล้วกังวลไปตามๆกัน ขงเบ้งแก้เกมด้วยการเขียนบทความส่งคืนไป ความว่าสมัยก่อน จักรพรรดิฮั่นนามหลิวซิ่ว รบที่คุนหยาง ใช้คนแค่แปดพัน เอาชนะทัพสี่สิบหมื่นของหวางหมั่งได้ ของแบบนี้พวกเราก็ทำได้ แม้เราจะน้อย แต่เรามีคุณภาพ ทุกคนพร้อมยอมตายไม่ยอมสยบ เพียงเราบุกขึ้นเหนือต้องชนะแน่ๆ

       พอบทความขงเบ้งแพร่ออกไป กำลังใจของชาวจ๊กก๊กก็กลับมา แถมฮึกเหิมยิ่งกว่าเดิมด้วย เรื่องนี้บอกเราว่าเวลาที่เผชิญแรงกดดันจากภายนอก ผสมด้วยความไม่มั่นใจของคนภายใน สิ่งแรกที่ต้องทำคือเราต้องหาทางกระตุ้นกำลังใจของคนในกลับมาให้ได้ ขอแนะนำว่าคนที่เป็นผู้นำจะต้องคุมสองสิ่งของลูกน้องให้ได้ นั่นคือ “ดี(ในตับ)” และ “ตา” ดีคือเมื่อคนเราขาดแรงใจ หมดหวัง ผู้นำต้องกระตุ้นกำลังใจให้ได้ การคุมตาคือยามที่ลูกน้องมองไม่เห็นทางรอด สิ้นหวังในชีวิต คุณต้องกระตุ้นและแสดงออกซึ่งทางรอดให้เขาเห็น

       จะขอเล่าตัวอย่างเล็กๆน้อยให้ฟัง สมมุติว่ามีกัปตันเรือหนุ่มคนนึง ต้องพบกับกัปตันอาวุโสท่านนึง ออกทะเล แล่นไปได้หน่อยกัปตันแก่ก็ลากกัปตันหนุ่มมาเล็คเชอร์ ออกความเห็นนิดหน่อย ให้กระดาษเล็กๆไปแผ่นนึง บอกว่าเรามีโอกาสเจอพายุเข้า พอเจอพายุแล้วคุณต้องไปยืนที่หัวเรือ ซึ่งเป็นที่ๆอันตรายที่สุด แล้วอ่านสิ่งที่อยู่ในกระดาษแผ่นน้อยนั่นออกมาดังๆ แล้วจะช่วยชีวิตลูกเรือได้ทั้งหมด แต่ตอนนี้ยังดูไม่ได้นะ รอพายุเข้าก่อนถึงค่อยเปิดอ่าน กัปตันหนุ่มก็รับคำ เมื่อถึงเวลาออกเรือได้ชั่วครู่ พายุก็เข้ามาอากาศเปลี่ยนแปร มืดฟ้ามัวดิน ชาวเลมักพูดกันว่าพอช่วงแล่นเรือท่ามกลางพายุมักรอดยาก ทุกคนจะตายมากกว่ากลับฝั่งได้ ก็โกลาหลอลหม่าน

       เวลาของการใช้สิ่งที่เขียนในกระดาษมาถึงแล้ว กัปตันหนุ่มไปยืนที่หัวเรือ ควักกระดาษขึ้นมาดู เขียนไว้ว่า “ท่าเรืออยู่ข้างหน้า” แล้วตะโกนออกไปดังๆ “ทุกคนอย่าได้ตื่นกลัว ข้าเห็นแล้ว ท่าเรืออยู่ลิบๆ ข้างหน้านั่นเอง ช่วยๆกันหน่อย ต้องไปถึงได้แน่” ลูกเรือได้ฟังก็มีกำลังใจ เพราะ หนึ่ง ขนาดกัปตันยังยืนเฉย เราจะกลัวไปทำไม สอง ท่าเรืออยู่ไม่ไกล เรายังมีหวังรอด จากความโกลาหลจะเอาชีวิตรอด ก็เริ่มบรรเทาลง จนเหลือแต่ความสงบ ทุกคนขมีขมันในการคุมเรือ รอจนพายุอ่อนแรง พ้นเขตอันตรายออกมาได้ จึงเห็นซากเสาเรือ ซากศพจากที่อื่นลอยเป็นแพ ในขณะที่เรือของกัปตันหนุ่มไม่เป็นอะไรเลย ความเสียหายต่ำมาก

       กับตันหนุ่มผู้รอดชีวิตก็ไม่เข้าใจ ทำไมคำพูดแค่นี้ถึงได้ช่วยชีวิตลูกเรือได้ ก็เลยไปถามกัปตันอาวุโส เขาก็อธิบายว่าพายุน่ะไม่น่ากลัวหรอก แค่จัดการหางเสือ ใบเรือ คุมพังงาให้ได้ก็รอดแล้ว สิ่งที่น่ากลัวของพายุคือมันทำให้ใจคนไม่สงบ โกลาหลกัน จะตายเพราะไอ้นี่แหละ เรือจะล่มไม่ใช่เพราะแรงพายุเป็นปัจจัยหลัก สิ่งที่ทำเรือพังจริงๆคือความหวาดกลัวและความโกลาหลที่พายุพัดมาด้วยตะหาก อุปสรรคและภัยไม่น่ากลัว ความกลัวและความวุ่นวายจากภัยอุปสรรคต่างหากที่อันตราย เวลาอันตรายแบบนี้แหละที่ผู้นำควรลุกขึ้นมาให้ความสงบใจและความหวังกำลังใจแก่ลูกน้อง ในประวัติศาสตร์ก็มีมากมายหลายครั้งที่กองทัพไม่ได้แพ้เพราะความยากลำบากและภัยอันตราย แต่มักจะแพ้เพราะความวุ่นวายไม่สงบใจ และความอลหม่านเสมอ

ส่วนพวงมาลัยนี่แหละครับ เรียกว่าพังงาเรือ

       ขงเบ้งมีความสงบใจของทีมงาน ความเชื่อมั่นจากมหาชน และบารมีสนับสนุนจากฮ่องเต้แล้ว แต่ก็ยังลงมือทำงานไม่ได้ ถ้าไม่ได้ดำเนินกลยุทธ์ข้อสุดท้าย นั่นคือ

  • สี่ ใช้เป้าหมายอันยิ่งใหญ่ เป็นแรงบันดาลใจ
       การทำงานทุกอย่างต้องมีเป้าหมายอันยิ่งใหญ่เสมอ บางคนอาจบอกว่าไม่จำเป็น หน่วยงานของเราไม่มีแผนใหญ่อะไรหรอก ขอแค่ทำงานได้เงิน เลี้ยงเมีย/ผัว เลี้ยงลูก ผ่านชีวิตแบบมีสุข แค่นี้ก็พอ ขอบอกเลยครับว่านั่นมันพวกองค์กรหลักลอย ผมมักจะพูดกับเขาเสมอว่าการจะทำงานใหญ่ได้เนี่ย ไม่มีเงินไม่ได้ มีเงินอย่างเดียวก็ไม่พอ ต้องเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจลูกทีมด้วย

       ลองไปดูเรื่อง 108 ผู้กล้าแห่งเขาเหลียงซานสิ ก่อนจะนั่งเรียงแถว ซ่งเจียงได้ทำสิ่งที่สูงส่งอย่างหนึ่ง นั่นคือหน้าหอคุณธรรมจะปักป้ายผ้าเหลือง เขียนอักษรสี่ตัว 替天行道 ใจความว่า “ตัวแทนแห่งแนวทางของฟ้า” นี่คือความสูงส่งของซ่งเจียง เพราะอะไร คิดดูสิว่าที่เขาเหลียงซานมีทัพนับหมื่น กับร้อยแปดผู้กล้า กินเหล้ากินเลี้ยง ผลาญเงินเป็นว่าเล่น เขาเอาทุนจากไหน ก็ปล้นเอาน่ะสิ หากคุณให้ผู้พิชิตน้อย โจวทง สิงโตมังกรตาไฟ เติ้งเฟย เสือแคระ หวางยิง สามคนนี้ไปปล้นคน ปล้นที่ไหนก็ได้ ได้เงินแล้วก็เอามาใช้กินใช้นอน ไม่มีความขัดข้องละอายใจ แต่ถ้าให้วีรบุรุษอย่างอู่ซง หลู่จื้อเซินไปปล้นชาวบ้าน เขาย่อมมีความละอาย มีความข้องใจอยู่บ้าง เป็นเพราะอะไร เพราะว่างานเหล่านี้ไม่มีเอกลักษณ์สำคัญ ภาพลักษณ์เหมือนๆกันหมด





บรรยากาศหน้าหอคุณธรรมคงประมาณนี้

       วัยรุ่นหลายคนสมัยนี้มีความฉลาด มีมารยาท ความประพฤติดี แต่พอเข้าทำงานทุกวันกลับไม่ค่อยอยากหรือไม่เต็มใจทำ เป็นเพราะว่างานพวกนี้มันไร้เอกลักษณ์ ไร้ความหมาย รู้ว่าทำแล้วได้ตังค์แค่นั้น คนจะทำการใหญ่ได้ ต้องใส่เอกลักษณ์ให้กับงานของตนเอง นายซ่งเจียงในเรื่องร้อยแปดผู้กล้าได้เติมเอกลักษณ์ อุดมการณ์ให้กับกลุ่มด้วยการเขียนป้ายผ้า บอกว่าพวกเราไม่ใช่โจรธรรมดา แต่เป็นโจรคุณธรรม ปล้นมาเลี้ยงตัวเพื่องานคุณธรรม ปล้นมาให้คนอื่นเพื่อการกุศล เขาต้องการประกาศอย่างชัดแจ้ง ผลลัพธ์ที่ได้ออกมาดีกว่าที่คิด

       กลับมาดูขงเบ้ง เขาก็พบปัญหานี้ มีแค่ผลประโยชน์ให้อย่างเดียวไม่พอ ต้องมีเหตุผล มีคุณธรรมให้ด้วย ขงเบ้งด้านหนึ่งก็ให้สถานะเงินทอง ให้ตำแหน่งทำ อีกด้านหนึ่งเขาก็ประกาศคำขวัญประจำก๊กอย่างดุดัน คือ “กู้ราชวงศ์ฮั่น ปราบคนทรยศ” กับ “ไม่ขออยู่ร่วมกับโจรกบฏ ไม่ขอปกครองแค่ดินแดนเดียว” ใส่คำขัวญลงไปเพื่อแสดงเป้าหมายใหญ่ ทำให้งานที่ทำดูมีคุณค่าขึ้น งานของเราไม่พูดถึงเรื่องเงินไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้เอาแต่เงินอย่างเดียว มีอุดมการณ์ด้วย กระตุ้นการขยันของคนทำงานขึ้นมาได้

       ขอบอกเลยว่าการทำงาน นอกจากจะต้องมีผลประโยชน์แล้ว ยังต้องมีอุดมการณ์ด้วย เงินทำให้คนทำงานได้ระยะหนึ่ง แต่อุดมการณ์ทำให้คนทำงานได้นานขึ้น ผลประโยชน์ทำให้คนเกิดแรงปะทุฮึดได้ในช่วงสั้นๆ อุดมการณ์ทำให้คนมีแรงใจทำในระยะยาว การทำงานคือการวิ่งช้าๆในระยะทางยาวๆ จะให้เร่งด้วยผลประโยชน์อย่างเดียวไม่ได้ เหมือนกับการฮึดวิ่งฝืนร่างกายในระยะสั้น ร่างกายจะเสียหายเอา ต้องมีทั้งสองอย่างงานถึงจะก้าวหน้า มีคุณภาพอย่างยั่งยืน

       ขงเบ้งแก้ปัญหาทางใจได้แล้ว มีความสงบทางการเมืองและสังคมแล้ว ศึกห้าทัพ (ในนิยาย) และศึกอื่นๆถูกแก้ไขได้แล้ว เขาก็เริ่มเตรียมการที่จะบุกแดนภาคกลาง ทวงคืนพื้นที่ให้ราชวงศ์ฮั่นแล้ว ใครๆก็อยากเสนอตัวมาทำการรวบรวมแผ่นดิน อุปสรรคข้อใหม่เกิดขึ้นมาท้าทายขงเบ้งแล้ว นั่นคือการคุมทัพขนาดใหญ่ ขงเบ้งคุมแม่ทัพไม่กี่คน กองพลเล็กๆก็ปัญหาไม่เท่าไหร่ นี่คุมทัพใหญ่เรือนหมื่นแสน คนประเภทไหนๆก็มีทั้งนั้น บางคนมีปัญหาเรื่องความประพฤติและมารยาท บางคนมีปัญหาเรื่องฝีมือและความรู้ความสามารถ ปัญหาแรกก็ประมาณว่าพังพอนจะเป็นพี่เลี้ยงให้ไก่ บอกว่าเป็นเรื่องดี ไม่มีหวังร้าย ปัญหาอย่างหลังก็แบบถั่วงอกริอยากเป็นไม้เท้า แก้ก็แก้ไม่ตก พึ่งก็พึ่งไม่ได้ คนสองแบบนี้อยู่ในมือคุณแล้ว จะคุมยังไงดี ลูกน้องแบบนี้นำปัญหามาให้ทุกวัน ก่อกวนไม่หยุดหย่อน ขงเบ้งจะแก้ปัญหาแบบไหน ใช้วิธีใดดัดหลังหรือกำจัด โปรดติดตามต่อตอนหน้าครับ

วันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2556

รู้อย่างขงเบ้ง (5) : กลเม็ดเคล็ดลับเรียกความเชื่อใจ

       ในวงการงานของเรา มักจะมีคนระดับหัวกะทิ เวลาทำงานก็แสดงพลังออกเต็มที่เสมอ แม้กระนั้นก็ตาม คนประเภทนี้ก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาในการทำงาน คนแบบนี้มักจะมีปัญหาที่ชนชั้นลูกกระจ๊อกไม่มีสิทธิ์กลุ้ม นั่นคือปัญหาความไว้วางใจจากผู้นำ กลัวว่าจะมีการขัดขำสั่ง หรือพาลล้มตำแหน่ง หักเก้าอี้กันง่ายๆ ขงเบ้งก็เจอไม่ต่างกันเท่าไหร่ เล่าปี่นายเก่าเขาก็ใช่ว่าจะเชื่อใจไปตลอด ขงเบ้งใช้วิธีไหนเพื่อเรียกความเชื่อมั่นในตัวเองต่อเล่าปี่ คนรุ่นหลังควรนำแผนนี้ไปใช้ยังไงดี หาคำตอบได้กับการเล่าสามก๊กอย่างมีอารมณ์ขันเป็นกันเอง โดยอาจารย์ 赵于平 เชิญรับชมได้ ณ บัดนี้ ในตอนที่มีชื่อว่า “ยอดเคล็ดลับเรียกความเชื่อถือ”


       ค.ศ. 223 เล่าปี่นอนซมอยู่บนเตียง หมอบอกว่ามีอาการท้องเสีย ห้วงความคิดในสมองของเล่าปี่ตอนนั้นคือภาพของตัวเองมองลงมาจากยอดเขา เห็นเปลวไฟสูงเสียดฟ้า บรรยากาศเต็มไปด้วยเสียงการฆ่าฟัน ศพคนและม้าเกลื่อนกลาด รถรบเรือรบกองสุมกัน ใครบางคนอาจบอกว่าเป็นศึกผาแดง แต่นั่นเป็นภาพติดตาของเล่าปี่ที่เห็นของพวกนี้มาทั้งชีวิต ครานั้นเขาเพิ่งผ่านพ้นจากเหตุการณ์ ”ยุทธภูมิแห่งอิเหลง” มาไม่นาน เรียกได้ว่าเป็นความสูญเสียครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตเลยทีเดียว ตัวเขาในตอนนี้ก็สูญไม่ต่างจากตอนที่โจโฉพ่ายศึกผาแดงซักเท่าไหร่นัก เขาเกิดความไม่เชื่อมั่นในสิ่งที่เห็น ทำไมกูแพ้หนักขนาดนี้วะ

       ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นเล็กน้อย เมื่อปีที่แล้วกระทาชายนายเล่าปี่ตั้งตนเป็นฮ่องเต้ งานแรกที่เขาทำในฐานะฮ่องเต้คือล้างแค้นให้กวนอู ยกพวกไปหวดง่อก๊กแบบยกแก๊งค์ ทว่าการยกพวกไปตีก็ไม่ได้ทำให้จิตใจที่เศร้าโศกดีขึ้นมาแม้แต่น้อย แย่ไปกว่านั้นกลับพ่ายแพ้ซะอีก ดัชนีความสุขในจิตใจเล่าปี่ที่ต่ำอยู่แล้วก็ร่วงระนาวกราวรูด เสียทัพ เสียขุนพล เสียสุขภาพทั้งกายและจิต ได้แต่ม้วนหางกลับไปอยู่ที่เป๊กเต้เสีย พอมาถึงเมืองไม่นานก็ป่วย ท้องเสียเล่นงาน ก็เรียกหมอมาดูอาการให้ หมอบอกว่าแบบนี้ไม่นานก็หาย

       ท่าการณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น ยิ่งรักษากลับยิ่งแย่ลงเรื่อยๆ ถึงขั้นหมดเรี่ยวหมดแรง ลุกไม่ขึ้น เล่าปี่ก็ตระหนักได้ว่าเวลาตัวเองเหลือไม่มากแล้ว ก็ให้ม้าเร็วไปตามตัวขงเบ้งที่เฉิงตู (เชงโต๋) เพื่อเรียกมาฝากฝังครั้งสุดท้าย เรื่องเลาของการฝากฝังครั้งนี้ไม่ว่าบันทึกใดๆต่างก็มีกล่าวถึง ทั้งยังเป็นเรื่องที่ไม่ว่านิยายหรือเรื่องจริงก็ระบุตรงกัน นั่นคือ เล่าปี่ใช้แรงเฮือกสุดท้ายเกาะกุมมือขงเบ้ง ปากก็กล่าวเสียงแหบๆว่าขงเบ้งเอย ตัวท่านฉลาดกว่าโจผีเป็นสิบเท่า จะต้องนำพาอาณาจักรเราไปสู่ความยิ่งใหญ่ได้แน่ หากลูกข้ามีปัญญาเฉียบแหลม ท่านก็จงช่วยเขาเป็นฮ่องเต้ให้ได้ แต่หากลูกข้าไร้สามารถ หมดสมรรถภาพ ท่านก็จงตั้งตนเป็นฮ่องเต้แทนเถิด

       คำพูดนี้ทำเอาขงเบ้งหลั่งเหงื่อเย็นเยียบ อยู่เงียบๆ ขงเบ้งไม่คิดว่าเล่าปี่จะกล่าวฝากฝังครั้งสุดท้ายในลักษณะนี้ ทอดตาดูทั่วประวัติศาสตร์จีน ไม่ว่าจะยุคใด สมัยไหนก็ตาม คนที่กล่าวแบบนี้คาดว่ามีเล่าปี่คนเดียวเท่านั้น ลองนึกถึงเถ้าแก่เจ้าของกิจการที่ใกล้จะตายแหล่มิตายแหล่ เรียกรองผู้จัดการใหญ่มาคุยด้วย บอกว่าถ้าลูกตัวเองมันมีน้ำยาก็ช่วยมันคุมกิจการ ถ้าลูกมันกากเดนโหลยโท่ย กิจการนี้จะเป็นของเจ้า ข้ายกให้เลย มีนายที่ไหนในโลกบ้างสั่งการแบบนี้

เล่าปี่สั่งการกับขงเบ้งก่อนตาย ด้วยวาทกรรมแหวกแนว

       ที่เล่าปี่พูดเช่นนี้คาดการณ์ได้สองอย่าง หนึ่งคือเล่าปี่นั้นจริงใจ ขอเพียงเป็นคนมีฝีมือ ไม่จำเป็นต้องใช้ลูกหลาน แค่เอาก๊กให้รอดยันรุ่งโรจน์เป็นใช้ได้ สองคือเล่าปี่กังวลใจ ขงเบ้งนั่นเป็นรองแค่เขาคนเดียว อำนาจใหญ่คับฟ้า ลูกตัวเองเพิ่งจะอายุสิบเจ็ด ไม่รู้สี่รู้แปด ยัง noob อยู่มาก จะเอาขงเบ้งลงเหรอ จะคุมได้อยู่มือมั้ย แล้วถ้าคุมไม่ได้จะทำยังไง นี่คือกังวลใจ ขงเบ้งได้ตอบกลับไปว่าข้าได้ทุ่มเทกายใจเต็มที่ จะขอภักดี มิมีเปลี่ยนใจ ตราบชีวิตจะหาไม่

       การพูดของเล่าปี่เป็นแรงกดดันขงเบ้งมหาศาล ขงเบ้งไม่ได้พูดเปล่าๆ แต่พูดไป ร้องไห้ไปด้วย แบบน้ำหูน้ำตา น้ำมูกน้ำลายไหลออกมาหมด ก็มีคนวิเคราะห์การร้องไห้ของขงเบ้งไว้เหมือนกัน ที่ขงเบ้งร้องไห้อาจเป็นเพราะว่าเขาซาบซึ้งใจที่เล่าปี่อุตส่าห์ไว้ใจให้ขึ้นคุมก๊กแทนลูกตัวเอง หรืออาจจะเป็นรู้ว่าเล่าปี่ใกล้ตาย หัวใจสลาย พูดจาเป็นลางเลยเศร้าโศกหนัก แต่เท่าที่กระผมวิเคราะห์ดูแล้วยังมีอีกเหตุผลที่น่าจะเป็นไปได้ นั่นคือเจ็บปวดใจ ที่ตนเองทำงานหนัก แสนภักดีแค่ไหน สุดท้ายก็ยังโดนระแวง ถึงพูดอะไรแบบนี้ออกมาเพื่อลองใจกัน จึงร้องไห้ด้วยความคับแค้นใจออกมา

       ในยามนี้ ขงเบ้งได้แต่อาศัยความรู้ของตัวเองเอาตัวรอด คนเราไม่กลัวจนมุม กลัวแต่เมื่อจนมุมแล้วไม่อาจคิดหาวิธีเอาตัวรอด แม้บางทีคนไม่กลัวการสิ้นวิธีคิดเอาตัวรอด กลัวแต่ว่าถึงเวลาจริงกลับหาคนที่มีวิธีคิดไม่เจอ ร้ายแรงกว่านั้นคือเมื่อเจอคนที่มีความคิดอ่านชี้แจงให้ ทว่าคุณเองกลับไม่เชื่อวิธีเหล่านั้น ขงเบ้งไม่ตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขเหล่านี้ เพียงแค่คิดเองแล้วลงมือทำด้วยตัวเองก็พอแล้ว ขงเบ้งคิดออกด้วยการใช้สี่กลยุทธ์ ซึ่งมีผลต่อเขาและคนอื่นอย่างมหาศาล

       ก่อนที่จะพูดถึงสี่กลยุทธ์นั้น ขอกลับมาที่สถานการณ์ปัจจุบันก่อน ไม่ว่าบริษัทใดๆล้วนแต่ไม่กลัวการทำธุรกิจ เพียงเกรงการจัดการคน ไม่กลัวปัญหาในทีมงาน เพียงกลัวสมาชิกในทีมก่อปัญหา ผู้นำหลายคนมักจะกังวลกันว่าจะบริหารคนในมืออย่างไรดี ซึ่งอันที่จริงแล้วการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างทีมงาน จัดการปัญหาที่เกิดจากลูกทีมแต่ละคนเป็นหัวใจหลักในการดำเนินงานเลยทีเดียว แม้มือเท้าจะอ่อนเปลี้ย แต่ถ้าสมองยังดีก็ยังจัดการตัวเองได้ ถ้าสมองเจ๊งเมื่อไหร่ ร่างกายและจิตใจจะแข็งแรงแค่ไหนก็มีปัญหา คนมักกล่าวว่ารถไฟวิ่งได้เพราะหัวรถจักร หากไร้ซึ่งหัวรถ ขบวนนี้ก็ด้อยค่ากว่าวัวควาย

       กลยุทธ์ที่ขงเบ้งใช้จัดการกับปัญหาในทีมงานมีอยู่ไม่กี่ข้อ จะขอแจกแจงดังต่อไปนี้

  • หนึ่ง เสริมพัดโบกในหน้าที่ พาชีวีก้าวสู่แท่น
      ข้อนี้ ขงเบ้งทำได้ดีมาก แต่ก่อนจะถกข้อนี้ เราจะกล่าวถึงชีวิตของเล่าปี่ก่อน คนโบราณมักพูดว่า “ครบรอบปีนักษัตร ชีวิตมักยุ่งยาก” เล่าปี่เกิดปีฉลู ปี คศ. 209 ครบรอบปีฉลูครั้งที่สี่ เพิ่งผ่านพ้นศึกผาแดงไม่กี่ปี รอบปีนี้เกิดอะไรกับเล่าปี่มากมาย เมียกำฮูหยินตาย เหลือไว้แต่ลูกที่อายุเพิ่งจะสามขวบ ยังความเศร้าโศกให้เล่าปี่มาก ครานั้น ลิห้อมขุนนางจากซุนกวนก็เข้ามาหา เล่าปี่ก็คิดว่าสงสัยจะมาทวงคืนเกงจิ๋วให้ง่อก๊กอีกเป็นแน่ แต่ว่าไม่ใช่ ลิห้อมบอกว่าได้ยินว่าเมียเก่าเพิ่งตายมาหมาดๆนี่ ซุนกวนนายเรามีเมียใหม่มาเสนอให้ท่าน รับรองว่ายังสดๆซิงๆ เพิ่งจะวัยรุ่นอยู่

       เล่าปี่ได้ยินเข้า แม้ว่าจะดีใจ แต่ก็ยังเคลือบแคลง บอกว่าข้าอายุจะห้าสิบแล้ว ขนทั่วร่างทั้งส่วนบนส่วนล่างจะขาวหมดแล้ว จะเหมาะหรือ ลิห้อมจึงว่าสาวน้อยนางนี้มีใจรักในผู้กล้า ควรคู่ยิ่งนักกับวีรบุรุษเช่นท่าน อายุเป็นเพียงตัวเลข จะกล่าวเลี่ยงไปไย เล่าปี่จึงว่าขอคิดก่อน จากนั้นจึงวิ่งแจ้น รีบไปปรึกษาขงเบ้ง  ซึ่งก็ได้คำแนะนำว่าพูดคุยกันให้ดีๆ แล้วอีกสองสามวันค่อยไปแต่ง เล่าปี่กลับบอกว่านี่มันต้องเป็นแผนของจิวยี่ชัดๆ จะส่งเนื้อเข้าปากเสือทำไมกัน ขงเบ้งจึงว่าอยากแต่งกับลูกเสือสาวก็ต้องกล้าเข้าถ้ำเสือกันหน่อย เรื่องทางหนีทีไล่เดี๋ยวจัดการให้ ไม่ต้องห่วง เกงจิ๋วจะยังอยู่ดี แถมได้สาวงามมาเลี้ยงไว้เล่นอีกด้วย 

คนคราวพ่อ แต่งกับสาวคราวลูกหลาน เพราะการเมืองหรือจริงใจ?

       เล่าปี่ก็รีบเก็บข้าวของ เตรียมเดินทางเข้าถ้ำเสือ ก่อนไปก็ดันตื่นกลัวขึ้นมาอีก ขงเบ้งจึงให้จูล่งไปด้วย พร้อมแผนสามอย่าง อย่างแรก พอถึงแดนง่อให้ประกาศการมาถึงอย่างยิ่งใหญ่ ให้สื่อมวลชนตีข่าวว่าจะมาแต่งงาน ทำข้าวสารเป็นข้าวสุก เกี่ยวดองกับงอก๊กไท่ เกียวก๊กโล่ เพิ่มอำนาจขึ้นไปอีก สองคือจงหาเวลาอันเหมาะสม ประกาศข้ออ้างในการบุกรุกเกงจิ๋วของโจโฉ เพื่อให้เล่าปี่มีข้อแก้ตัวกลับเกงจิ๋ว สามคือในเวลาที่ถอยกลับเมือง ถ้าไปไม่ได้ด้วยเหตุอันใด ก็ให้น้องสาวซุนออกหน้า แล้วจะกลับได้ปลอดภัย

       กาลเวลาผ่านไป ด้วยแผนต่างๆที่วางไว้ให้ ทำให้เล่าปี่ได้เสือสาวกลับมาเชยชมฟรีๆ ยั่วจิวยี่ให้โกรธแค้นกันเล่นๆ ผลงานคราวนี้ทำให้ขงเบ้งได้รับความเชื่อถือ ปลาบปลื้ม และซาบซึ้ง ขงเบ้งนั้นเป็นคนฉลาด ในทีมงานเขานั้นก็เป็นรองหัวหน้า ยามปกติที่กำหนดกลยุทธ์นั้น คุณยังต้องกังวลใจกับปัญหาชีวิตของหัวหน้าทีม เวลาที่เขาพบเจอความลำบากในชีวิต คุณต้องเป็นเพื่อน เป็นพี่น้องที่คอยให้คำปรึกษาให้เขาได้ เราทุกคนเปรียบเสมือนอยู่บ้านหลังใหญ่ นายเราก็เหมือนพ่อแม่ ทหารร่วมรบก็เป็นเหมือนน้องพี่ เราทำตามหน้าที่บางครั้งก็ไม่พอหรอก ต้องมีความเป็นห่วงใย ใส่ใจกันบ้าง

       ขงเบ้งมองเห็นว่าการไปแต่งงานกับน้องสาวแซ่ซุนของเล่าปี่มีความเสี่ยง แต่ว่าก็ไม่ได้ห้ามปรามอะไรมาก เขาไม่ได้ใช้ฐานะกุนซือบอกไปว่าท่านอย่าได้ไปเลย เพียงเพื่อสาวคนเดียว จะเอาชีวิต เอาอนาคตของก๊กไปทิ้งเชียวเหรอ หากเขาพูดอย่างนี้ก็จะกลายเป็นการขัดขวางความเจริญครั้งหนึ่งในชีวิตเล่าปี่ หากครานั้นมีกุนซือสองคน คนหนึ่งทักท้วงว่าอย่าไป อีกคนบอกว่าไปเถอะ เรามีแผนรับมือ คิดว่าเล่าปี่จะฟังใครดีล่ะ ก็ต้องอย่างหลังสิ แถมเชื่อมั่นในแผนนั้นอย่างเต็มใจด้วย ฉะนั้นหากมีใครสักคนข้างกายไม่เชื่อใจคุณ แปลว่าคุณกับเขา/เธอถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดให้กันไม่เพียงพอ ต้องแคร์เหตุการณ์ในชีวิตคนๆนั้นบ้าง ไม่ใช่เอาแต่ทำตนในหน้าที่ทั้งวัน พูดแต่เรื่องการงานการเรียน หรือเรื่องทั่วไป การช่วยเหลือใครสักคนแก้ปัญหาชีวิตจะทำให้ความเชื่อใจระหว่างเขา/เธอผู้นั้นกับคุณมีให้กันมากขึ้นไปอีก กลยุทธ์นี้ก็คือในเวลางานให้ทำงาน เมื่อเจอปัญหาชีวิตให้ช่วยเหลือกันนั่นเอง

       หลังจากเหตุการณ์เล่าปี่แต่งเมียสาวผ่านไป ไม่นานนักขงเบ้งก็ได้มีโอกาสใช้กลยุทธ์ที่สอง นั่นคือในเวลางานเฉพาะทาง ขงเบ้งไม่เคยเรียกร้องว่าฉันชอบทำอะไร เขาใช้อะไรก็ทำ แผนที่สองก็คือ...

  • สอง ละวางความถนัด ทำสิ่งที่ควรทำ
       บันทึกซานกว๋อจี้เขียนไว้ว่าครั้งนึงเตียวเจียวร่วมปรึกษากับซุนกวน จะเชิญขงเบ้งมาร่วมก๊ก ซุนกวนจึงส่งจดหมายเชิญมา แต่ขงเบ้งก็มิได้ตอบตกลงกลับไปเลย ขงเบ้งว่าแม้ซุนกวนจะเป็นนายที่ดี แต่ดูสภาพอารมณ์และความคิดนิสัยแล้ว เขาทำได้เพียงเคารพนบนอบ แต่ไม่อาจนำเอาสติปัญญาของเราไปใช้ได้เต็มที่ ภาษาโบราณเขียนว่า “แม้คู่ควรแต่ไม่อาจเป็นคู่คิด”

       หากคุณจะใช้ม้าพันลี้สักตัว คุณต้องรู้ว่าม้าดีพันธุ์นี้ต้องการอะไร คนบอกว่าต้องการหญ้าดี แท้จริงแล้วแค่นั้นไม่พอหรอก มันต้องการทุ่งหญ้าที่ดีด้วย คุณเอาแต่เลี้ยงมันด้วยหญ้าหวานชั้นเลิศ ขังในคอกชั้นสูง แต่ไม่เคยให้มันออกวิ่ง  มันก็ไม่พอใจ ขงเบ้งก็เป็นแบบนี้ เอาแต่เลี้ยงดู ไม่ยอมใช้งานให้เต็มที่ เขาถึงไม่ไป อยู่กับเล่าปี่แล้วเขาแน่ใจว่าเขาจะได้ทั้งหญ้าดีและทุ่งกว้างให้ออกวิ่งแน่นอน ความเชื่อใจนี้มีมาตั้งแต่สมัยสามเยือนกระท่อมหญ้าแล้ว

       ถามว่าเล่าปี่ให้พื้นที่ทุ่งหญ้ากับขงเบ้งมั้ย ก็ให้แหละ แต่ให้ไม่หมด ตอนได้ขงเบ้งมาใหม่ๆ  ขงเบ้งออกวิ่งเต็มที่ เผาซินเอี๋ย เผาทุ่งพกบ๋อง จับมือกับซุนกวนและผองเพื่อน ทั้งให้อำนาจจัดการการคลัง การปกครอง เศรษฐกิจ ปกครองเลงเหลง เตียงสา ฮุยเอี๋ยง ขงเบ้งยิ่งใหญ่มาก งานอะไรก็ทำได้หมด แต่มาภายหลังศึกผาแดง ก็เกิดความเปลี่ยนแปลงในชีวิตขงเบ้ง แม้ขงเบ้งจะได้รับแต่งตั้งเป็นแม่ทัพทหารหลวง แต่งานหลักกลับเป็นการอยู่เฝ้าบ้าน อีตอนยึดเสฉวน เล่าปี่ก็ใช้บังทอง หวดเจ้ง เหลือขงเบ้งไว้กันบ้าน

       ตอนบุกยึดฮันต๋ง มีบันทึกไว้ว่า “นายออกรบ เบ้งอยู่เฝ้าเมืองหลวง จัดการงานทุกอย่าง” ไอ้งานทุกอย่างนี่รวมมันทุกอย่างตั้งแต่การคลังการปกครองจนการทูต ขงเบ้งจัดการได้ดีเยี่ยม ช่วงหลังๆในชีวิตขงเบ้งในระยะนั้นเอาแต่เฝ้าเมือง กระนั้นเขาก็ได้ละวางตัวตนในรูปแบบกุนซือสมัยถกยุทธการหลงจง หันมาจับงานปกครอง งานทุกอย่างที่ไม่ใช่แนวเสนาธิการที่ปรึกษาทัพควรจะทำเลย เขาทำโดยไม่บ่น ไม่ต่อต้าน ใช้ให้ทำก็ทำ ฉะนั้นจึงขอพูดว่า “ผู้มีความสามารถ ไม่ว่าจะจับงานด้านไหน สภาพของงานนั้นก็จะออกมาดีเสมอ และจะเชื่อฟังคำสั่งอย่างถึงที่สุดมิคัดค้าน”

       สมมุติว่าคุณคือยอดฝีมือพิณอันดับหนึ่งแห่งแผ่นดิน เข้าร่วมงานชุมนุมชาวดนตรี จำเป็นมั้ยที่จะต้องขึ้นไปดีดโชว์เพลงยอดนิยมท็อปชาร์ตในตอนนั้น ไม่ต้อง คุณต้องดูวาทยกร แล้วค่อยดูโน้ตเพลง วาทยกรคือผู้นำ โน้ตเพลงก็คือโครงงาน หากคุณไม่ดูอะไรเลย เอาแต่บรรเลงเพลงที่คุณถนัด ยิ่งคุณทำเก่งเท่าไหร่ ยิ่งทำความเสียหายให้แก่วงดนตรีมากเท่านั้น  สมัยนี้บัณฑิตจบใหม่ไฟแรงทำงานที่ตนถนัด ทว่านายกลับไม่พอใจ คนทั่วไปเคลือบแคลงสงสัย เพราะทำโดยไม่ดูประสงค์ของเจ้านาย ไม่ดูโครงสร้างงานนั่นเอง คนเก่งจริงต้องเรียนรู้งานอื่นได้ จับงานอื่นโดยไม่บ่น ขงเบ้งก็เป็นพวกแบบนี้

       แต่ถึงแม้ว่าขงเบ้งจะทำงานแบบ 不挑肥拣瘦 ไม่เลือกมาก ทำงานแนวหลังโดยไม่บ่นว่า ก็ยังไม่ทำให้คนอืนไว้ใจได้เพียงพอ ขงเบ้งต้องการได้รับความสนับสนุน ก็ใช้ออกด้วยแผนที่สาม นั่นคือ....

  • สาม พูดอย่างอ่อนแอ โชว์ความพึ่งพิง
       เราจะเห็นความคิดนี้จากฏีกาออกศึก มีอยู่ท่อนนึงที่เขียนได้กินใจมาก ที่จริงบทความนี้เขียนได้อย่างสูงส่ง หากคุณเอาแต่อ่านเพื่อซาบซึ้ง แปลว่าคุณยังไม่มีวิสัยทัศน์ดีพอ ต้องเอาความสูงส่งด้วย บทนั้นกล่าวไว้ว่า  

       臣本布衣,躬耕南阳,苟全性命于乱世,不求闻达于诸侯。
เดิมกระหม่อมเป็นสามัญชน ทำไร่ไถนาที่หนานหยาง เพียงขอรักษาชีวิตในกลียุค ไม่คิดถามหายศศักดิ์

       先帝不以臣卑鄙,猥自枉屈,三顾臣于草庐之中,谘臣以当世之事,由是感激,遂许先帝以驱驰。
ปฐมกษัตริย์ไม่ถือข้าต้อยต่ำ ลดศักดิ์เสียเกียรติ์ มาเยือนกระหม่อม สามครั้ง ณ กระท่อมหญ้า
ไต่ถามกระหม่อมเรื่องบ้านเมือง เพราะว่าซาบซึ้ง แล้วจึงให้องค์ปฐมกษัตริย์ได้ช่วงใช้ 


(สำนวนของคุณอ๋อง นิธิพันธ์ แฟนพันธุ์แท้ราชวงศ์จีน อ่านตัวเต็มได้ที่ http://ongchina.wordpress.com/2012/03/09/%E0%B8%8E%E0%B8%B5%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%88%E0%B8%B9%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B9%8B%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B5/)

       จะเห็นได้ว่าในบทนี้ขงเบ้งพูดได้แบบสุภาพ ลดตนมาก ยิ่งไปกว่านั้น คำพูดเล่านี้เขาใช้กับทายาทรุ่นหลัง มิใช่นายเก่าที่อาวุโสกว่า ตอนพูดกับนายรุ่นหลานยังขนาดนี้ แล้วตอนอยู่กับนายรุ่นแรกล่ะ จะขนาดไหน ที่ขงเบ้งลดตนต่ำขนาดนี้ เขามีเหตุผลของเขาอยู่ หลักจิตวิทยาพบว่ามนุษย์เราเป็นสิ่งมีชีวิตที่อิจฉาคนที่แข็งแก่กว่า พอเจอคนที่อ่อนกว่าจะลดความเกลียดชังและความอิจฉาลงได้บ้าง และนอกจากนี้ คนที่ทำตนอ่อนแอจะดูเหมือนกับว่ามีความไว้ใจได้ ไม่เปลี่ยนแปรง่ายๆ ความอ่อนน้อมจะทำให้คนจดจำและสนับสนุนได้ดีกว่า คุณต้องทำตนอ่อนน้อมอ่อนแอเป็น ถึงจะได้รับความเห็นใจ

       ยกตัวอย่างง่ายๆ มีอาจารย์ท่านหนึ่ง แต่งงานกับหญิงคนหนึ่งได้สามสิบปีแล้ว ความรู้สึกที่มีให้กันยังคงดีอยู่ ลูกหลานไปอยู่ต่างแดนกันหมด ลูกศิษย์วัยรุ่นก็ไปหาอาจารย์ท่าน ถามว่าทำยังไงถึงรักกันได้ยืนยาวขนาดนี้น่ะ อาจารย์บอกว่าไม่มีอะไรมาก คือฉันเนี่ยเลือกกิน ถ้าไม่ได้กินข้าวที่เมียทำ มันไม่อร่อย กินไม่ลงว่ะ ยอมอดตายดีกว่า ข้างฝ่ายเมียอาจารย์ก็ว่าฉันมีเป็นโรคประสาทอ่อนๆ กลางคืนจะนอนไม่หลับ ถ้าไม่มีตาแก่นี่มานอนข้างกาย พอนอนแล้วก็ชอบหายใจเป็นจังหวะโหล พอหายใจถึงโหลที่สามเมื่อไหร่นั่นแหละฉันถึงจะนอนได้ อาจารย์เสริมว่าเราสองผ่านชีวิตกันมาแบบนี้แหละ แล้วก็หัวเราะให้กัน

       ทว่าความจริงกลับไม่เป็นแบบนั้น ครั้งหนึ่งอาจารย์ต้องไปงานสัมมนาวิชาการ เพื่อนอาจารย์ด้วยกันเห็นอาจารย์คนนี้ตักได้ตักเอา กินไม่มียั้ง จากนั้นก็มีคนโทรไปคุยกับหลาน ถามว่าป้าตอนนี้เป็นไงมั่ง หลานตอบว่าป้าพอหัวถึงหมอนก็หลับเลย ดูสิว่าต่างคนพอแยกกันแล้วก็อยู่เป็นสุข ปัญหามันอยู่ที่ว่าทั้งคู่บอกว่าแยกจากกันไม่ได้ แถมยังบอกถึงเหตุผลที่จำเป็นในการอยู่ด้วยกันอีกตะหาก ที่น่านับถือก็คือเวลาที่แต่ละคนพูดเหตุผลของตนเองออกไป มักจะนึกเสมอว่าเหตุผลของตัวเองน่ะสร้างมาหลอกๆ แต่ที่อีกฝ่ายพูดมานั้นเป็นจริงแน่ๆ ความรู้สึกนี้แหละที่เสริมแต่งให้กันและกัน นี่ล่ะคือโชว์ความอ่อนด้อย แสดงความพึ่งพา เพื่อได้ใจและความสนับสนุนซึ่งกันของอีกฝ่าย จึงขอกล่าวว่า ความรู้สึกนึกคิดคือการเรียนรู้ที่จะแสดงความอ่อนด้อย มิใช่แสดงความเข้มแข็ง หากบอกว่าสามารถตีจากกันได้ ก็จะเป็นความเย็นชา ไร้ความรู้สึก แต่หากพูดว่ามิอาจแยกจากเธอได้ ความรู้สึกที่ทีจะดีต่อกันมากขึ้น

       คุณต้องทำแบบนี้แหละเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ ขงเบ้งอุตส่าห์เขียนอย่างถ่อมตนในฎีกาออกศึกก็ด้วยเหตุเดียวกัน คนจีนมักคุยกันว่าทำไมหญิงกร้าวมักไร้คู่ เพราะไอ้ความกร้าวนี่แหละ ถือตนว่าดีกว่า แกร่งกว่าตลอด ภาษาจีนมีคำว่า 怜爱 (เอ็นดู) คือ 怜 (เห็นใจ) ก่อน จึงค่อย 爱 (รัก) อยากให้ใครรัก ใครสนับสนุน ไม่ว่าพ่อแม่ พี่น้อง ญาติมิตร คนรัก หรือเจ้านาย ก็ต้องอ่อนน้อม แสดงความอ่อนแอให้เป็น คนที่แกร่งเป็น คือมีพละกำลัง แต่คนที่อ่อนเป็น คือผู้มีปัญญา

       หลังจากที่ได้การยอมรับสนับสนุนแล้ว นายก๊กและขุนนางต่างๆบอกว่าท่านเก่งมาก เราเปิดโอกาสให้ท่านเดินหน้าเต็มตัวเลย ขงเบ้งใช้ออกด้วยแผนที่สี่ นั่นคือ...

  • สี่ สงบมั่นคง ออกตัวไม่รีบร้อน
       จุดนี้ดูจากปัญหาที่เล่าปี่เจอมา คือตอนที่เล่าปี่ยกพวกตีง่อในศึกอิเหลง แล้วแพ้กลับมาขนาดหนัก พอข่าวมาถึงเมืองหลวง ขงเบ้งได้แต่บ่นว่าถ้าหวดเจ้งยังอยู่คงไม่ปล่อยให้เล่าปี่ไปรบ หรือถ้ารบก็ไม่เสียหายหนักขนาดนี้ คำพูดนี้ทำให้เกิดข้อครหามากมาย มีคนบ่นว่าก็แกยังอยู่ไม่ใช่เหรอ ทำไมไม่คัดค้านไปล่ะ ทำไมไม่ช่วยเขาวางแผนรบ ปัญหาข้อนี้ลึกซึ้งมาก ในที่นี้เราจะไม่ใช้เหตุผลตามหลักประวัติศาสตร์ที่คนวิเคราะห์ไว้เยอะแล้ว แต่เราจะใช้หลักจิตวิทยาและการบริหารจัดการมาวิเคราะห์ดูแทน

       ก่อนอื่นเรามาดูแรงจูงใจในการทำสงครามของเล่าปี่ มีคนบอกใครๆก็รู้ ก็แก้แค้นให้กวนอูไง หนังสือบอกไว้นี่ บทแรกไง ที่สามคนสาบานกันว่าจะขอตายวันเดือนปีเดียวกัน แล้วน้องรองกวนอูโดนพวกง่อก๊กฆ่า เราก็ต้องยกพวกไปยำมันสิ เหตุผลนี้เหมาะมั้ย ก็เหมาะอยู่ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะนี่แค่อ้างอิงตามตรรกะของนิยาย ในบันทึกซานกว๋อจี้ไม่เคยกล่าวถึงเลย ทั้งเล่าปี่ต้องรอสามปีถึงจะไปแก้แค้น ทำไมไม่รีบไปแก้แค้นแต่เนิ่นๆ มีคนบอกว่า อ้าว ก็ต้องรวบรวมพล ระดมเงินทุนไง อ่ะ ข้อนี้ก็เป็นไปได้อยู่

บันทึกประวัติศาสตร์ไม่มีเขียนเรื่องสาบานอะไรเลย มีแต่บันทึกเรื่องนอนเตียงเดียวกัน

       ทีนี้มามองในมุมมองอื่นบ้าง ตอนที่เล่าปี่ออกรบในศึกอิเหลงนั้นเป็นปีที่สองที่เขาตั้งตนเป็นฮ่องเต้ ต้องการแสดงบุญญาธิการ ประกาศศักดาให้โลกรู้ อยากขยายดินแดน แต่ถ้าไปตีวุยก๊กก็เหมือนเอาไข่ไปกระแทกหิน จะจุกเอาเปล่าๆ มีแต่ง่อก๊กนี่แลที่พอฟัดพอเหวี่ยง เล่าปี่ออกรบรอบนี้มีทั้งเหตุผลทางใจ และทางการเมือง สถานการณ์ในตอนนั้นวุยก๊กยิ่งใหญ่ที่สุด รองลงมาคือง่อ จ๊กก๊กรั้งท้าย แล้วการที่ก๊กอันดับสามฟาดปากก๊กอันดับสอง อันดับหนึ่งมีแต่จะดีใจ รอให้ฝ่ายไหนตายก่อน เราค่อยกระทืบซ้ำ หรือไม่ก็อาจจะสนับสนุนจ๊กก๊กช่วยตีง่อ พอเผลอๆก็เก็บมันทั้งคู่ในคราวเดียว

       เหตุผลเหล่านี้ขงเบ้งล้วนมองออก แถมมองออกมานานแล้ว ดูได้จากตอนถกยุทธการหลงจง ขงเบ้งกำหนดไว้ว่าให้ร่วมมือกับซุนกวน ล่าล้างโจโฉ ทว่าตอนเล่าปี่ฮึดฮัดจะไปรบกับง่อก๊ก ขงเบ้งไม่ได้ออกปากคัดค้านเลยสักแอะ คนแรกๆที่คัดค้านการก่อสงครามคราวนี้คือจูล่ง ตามมาด้วยมวลชนชั้นขุนนาง ก็คนคัดค้านเยอะซะขนาดนี้ ทำไมขงเบ้งไม่เข้าร่วมด้วยล่ะ คัดค้านไปเลย หากเล่าปี่ไม่ฟัง ก็รวมตัวกับขุนนาง ให้ขงเบ้งเป็นแกนนำ หากเล่าปี่ยังไม่ฟังอีก ขงเบ้งจะอารยะขัดขืน ไม่ทำตามหน้าที่ ไม่วางแผน ไม่ส่งเสบียง ดูซิว่าจะไปรบยังไง

       หากขงเบ้งทำตามนี้ นับว่าอันตรายมาก หากเขารวมพลังมวลชน คัดค้านเล่าปี่ที่ทีตำแหน่งฮ่องเต้ในครานั้น ข้อหาเบาหน่อยคือก่อม็อบประท้วง หนักเข้าก็คือก่อกบฏ กระทำการปฏิวัติ ของพวกนี้ขงเบ้งทำได้แค่คิด ไม่อาจยอมรับได้ เล่าปี่ที่อยากทำสงครามจนคลั่ง รีบร้อนแต่จะออกรบจนลืมหลักเหตุและผล ขงเบ้งทำได้แต่ปล่อยวางกับความคิดเห็น ปล่อยให้เล่าปี่ลงมือไปก่อน จึงรั้งอยู่แนวหลัง รอคำสั่ง ไม่ออกไปรบในแนวหน้าด้วย พอเล่าปี่พ่าย หนีตายไปเมืองเป๊กเต้เสีย ก็ได้ส่งคนไปตามตัวขงเบ้งที่เมืองหลวง ขงเบ้งในตอนนั้นคิดว่าถ้าเล่าปี่ไม่ตาม ก็จะไม่ไป แต่ถ้ามาตามก็จะรีบไป พอมาถึง เล่าปี่ก็ฝากฝังให้ขงเบ้งจัดการเรื่องราวต่างๆ

       ก่อนหน้านี้เราพูดกันว่าหลังจากศึกผาแดง เล่าปี่ก็ไม่ได้ใช้ขงเบ้งในฐานะกุนซือ ทำงานใหญ่อีกเลย แต่ครั้นพอใกล้จะตาย กลับมอบหมายหน้าที่ใหญ่ๆทั้งหมดให้ขงเบ้งทำ เล่าปี่ทำแบบนี้ คาดเดาได้สองอย่าง หนึ่งคือเล่าปี่ซาบซึ้งในหลักการทำงานของขงเบ้ง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ สมัยนั้นหากผู้นำใช้กุนซือทำงาน หากไม่ทำ เขาก็ไม่เห็นดีเห็นงาม ถ้าทำไม่ดีก็โกรธ โมโห แต่ถ้าทำดีเลิศก็พาลให้ไม่ไว้วางใจอีก เล่าปี่ยอมรับและไว้วางใจแล้ว จึงฝากฝังให้ขงเบ้งสานต่อ อีกเหตุผลหนึ่งที่เล่าปี่ฝากฝังขงเบ้งคือเขาคิดว่ายุทธศาสตร์หลงจงที่เคยวางแผนไว้นั้นถูกต้องแล้ว เขาเพิ่งจะยอมรับอย่างเต็มตัว ตัวองทำผิดหลักการนี้ไปหน่อย อยากให้ขงเบ้งซ่อมแซม สานต่อแผนนี้ให้สำเร็จ

       ขงเบ้งในเวลานี้เขาได้รับมอบอำนาจเต็มตัว มีโอกาสได้จับงานการทหารและการเมืองการปกครองอย่างเต็มที่เป็นครั้งแรกในชีวิต นับตั้งแต่ขงเบ้งลงจากเขามา นี่จะเป็นช่วงเวลาที่เขาจะเป็นตัวแสดงเด่นในเวทีของจ๊กก๊ก ทว่าฉากของเวทีนี้ก็ไม่ได้สวยหรู อันตรายรอบด้าน ลึกลับซับซ้อน แล้วขงเบ้งจะใช้วิธีใดเผชิญหน้า เขาจะเจอความลำบากแบบไหนบ้าง กลยุทธ์ใดที่เขาจะนำพาก๊กให้รอดจากอันตราย นำพาก๊กไปสู่รูปแบบใหม่ได้ เชิญติดตามต่อตอนหน้าครับ


วันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2556

รู้อย่างขงเบ้ง (4) : จัดระเบียบบุคคลให้อยู่มือ

       Note : ผมได้รวบรวมตอน "คิดแบบสุมาอี้" และ "รู้อย่างขงเบ้ง ถึงตอนที่ 3" ไว้เป็นไฟล์ภาพขนาดยาวหน่อย สามารถดาวน์โหลดมาอ่านได้ที่  http://www.thaicyberupload.com/get/vxBSRTd8UM
      

ในระหว่างการดำเนินงาน เหตุการณ์หนึ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ในชีวิตก็คือการร่วมมือกันระหว่างสองบริษัทที่ไม่ได้มีการบริหารกันดีนัก เมื่อเกิดปัญหานี้แล้ว ผู้บริหารทั้งสองฝ่ายควรวางตัวอย่างไร จะปรับความเข้าใจทั้งสองฝ่ายกันแบบไหน  เรื่องนี้ดูไปก็คล้ายกับเล่าปี่ตอนตีได้เสฉวน ซึ่งเจ้าของเดิมคือเล่าเจี้ยง เล่าปี่จะกล่อมใจขุนนางเก่าของเล่าเจี้ยงได้อย่างไร ณ จุดนี้ ขงเบ้งได้แสดงความรู้ออกมาอีกครั้ง ร่วมรับรู้เหตุการณ์ตอนนี้ไปด้วยกันผ่านฝีปากของอาจารย์ 赵于平 กับ 麻辣说三国 ในหัวข้อ “กลอุบายจัดการใจคน”
 

       เราจะมาพูดถึงเหตุการณ์ตอนที่ขงเบ้งเจอปัญหาในการควบคุมสถานการณ์ในเชงโต๋ คนมักกล่าวว่ารบชนะน่ะง่าย แต่ยึดครองได้ยาก ไม่ใช่แค่รบชนะแล้วเรื่องก็จบนี่ ถ้าเทียบกับยุคปัจจุบัน สมมุติว่าบริษัทคุณไปซื้อกิจการของบริษัทอื่น ตรงนี้เป็นเรื่องง่าย แต่พอจะให้ทำงานร่วมกับอดีตผู้นำบริษัทเก่าที่ตอนนี้มาเป็นลูกน้องเนี่ยจะยากละ คนจีนมักจะเป็นประเภทรวมกันตายหมู่ แยกอยู่ตรูรอดเสียมาก ถ้ามารวมกันจะได้ข้อพิพาทมากกว่าผลประโยชน์ และในหมู่ปัญหาความร่วมมือนั้น เรื่องคนทำงานเป็นปัญหาใหญ่สุด คุณใช้ให้เขาทำแต่เขาไม่ทำ แล้วจะทำยังไงดี

       ขงเบ้งในตอนนั้นได้ถกถึงกลยุทธ์ข้อหนึ่งกับเล่าปี่ นั่นคือหากจะสงบสถานการณ์ต้องสยบใจคน อยากจะเริ่มสยบใจคนก็ต้องเริ่มที่ข้าราชการ คนทำงานก่อนเป็นอันดับแรก มีแต่การได้ใจคนทำงาน ข้าราชการ ถึงจะควบคุมสถานการณ์ได้ แล้วจะมีวิธีไหนเล่า ขงเบ้งคิดไว้แล้วสามกลยุทธ์ เป็นกลยุทธ์ที่ถึงแม้ไม่เอาไปใช้ เพียงได้ฟังก็สนุกกับมันได้

      กลยุทธ์ข้อแรกคือ由远及近 先严后宽 จากไกล มาใกล้ เข้มงวดก่อน ผ่อนปรนทีหลัง

       ขงเบ้งได้ทำลิสต์คนที่จะส่งเสริมสนับสนุนเอาไว้ บทที่ 65 ในซานกว๋อเหยี่ยนอี้ได้บอกไว้ว่าในระหว่างที่ขงเบ้งได้แต่งตั้งตำแหน่งขุนนางต่างๆ เขาเลือกคนที่เป็นลูกน้องเก่าของเล่าเจี้ยงเจ็ดคนมาให้ตำแหน่งก่อน รายชื่อที่พอจะคุ้นหน้าคุ้นตาก็มี ตั๋งโห (ต่งเหอ) เล่าป๋า (หลิวปา) อุยก๋วน (หวงฉวน) ไอ้สามคนนี้เป็นแกนนำที่จะเสนอเล่าเจี้ยงให้สู้ต่อมิขอสยบเมื่อครั้งที่เชงโต๋โดนล้อม นอกจากนี้ยังมีอีกสองจำนวนนับที่น่าสนใจ คือ 26 กับ 40

       คือเมื่อยึดเสฉวนได้แล้ว เล่าปี่ก็แต่งตั้งขุนนางมาดูแลเมือง 40 คน 26 คนแรกๆ ล้วนแต่เป็นลูกน้องเก่าเล่าเจี้ยงทั้งนั้น ไม่มีคนฝ่ายตัวเองเลย ลูกน้องเล่าปี่ก็สงสัย ทำไมให้ไอ้คนพวกนี้ได้ดีเหลือเกิน นี่เป็นกลยุทธ์ที่ให้ตำแหน่งแก่คนไกลก่อน คนใกล้ตัวไว้ทีหลัง แล้วทำแบบนี้จะได้ผลแน่เหรอ จะยกตัวอย่างให้ฟัง

       มื้อเที่ยงวันหนึ่ง ในโรงเรียนอนุบาล เด็กๆกินข้าวเที่ยงแล้ว ครูหิ้วตะกร้าแอปเปิลเข้ามาในห้อง หวังจะแบ่งให้เด็กกิน เด็กเห็นก็กรูกันเข้ามา ครูบอกให้ต่อแถว ไม่มีเด็กคนไหนฟังครูเลย ครูเหลือบไปเห็นเด็กน้อยนายหนึ่งอยู่ที่โต๊ะตัวเอง ไม่ได้มาแย่งกับเขา (เพราะปกติเขาเป็นคนขี้เกียจ แถมซกมกด้วย ชอบเล่นน้ำลาย) ครูเลยเรียกเด็กน้อยมา “เฮ้ อาเต๊า มาๆ รับแอปเปิลไปก่อนเลย” จากนั้นหันมาพูดกับเด็กๆว่า “ใครเป็นเด็กดี เชื่อฟัง เราจะให้คนนั้นก่อน มาต่อแถวซะดีๆ” พอเด็กๆเห็นอาเต๊าได้แอปเปิลก่อนใคร เขาก็จะพร้อมใจกันต่อแถวเอง เป็นเพราะอะไรล่ะ

       เด็กในห้องทุกคนรู้ดีว่าอาเต๊านิสัยยังไง แม้อาเต๊าจะนิสัยไม่ค่อยดี แต่ก็ยังได้รับความเชื่อใจ เด็กก็จะเริ่มคิดละว่าฉันดีกว่าเด็กนี่เป็นไหนๆ ขอแค่ปฏิบัติตัวดีกว่าไอ้คนนี้ เดี๋ยวฉันก็ได้เร็วกว่าเอง ใจของเด็กทุกคนสงบลงแล้ว จึงเข้ามาต่อแถวรับแอปเปิล มาดูกรณีคนโตกันบ้าง ทำไมทุกคนชอบกรูกันซื้อตั๋วรถไฟ เป็นเพราะว่าเราถูกสร้างภาพ ถูกลวงจากสังคมกลายๆว่าถ้าเราไม่ไปรุมซื้อ เราจะไม่ได้ตั๋ว ใจคุณจะร้อนรน ถ้าคนขายตั๋วเอาปึกตั๋วมาโชว์ บอกว่าตั๋วมีพอ ได้กันทุกคน ใจคนจะเริ่มสงบลง และยอมต่อแถวซื้อ กลับมาที่เด็กอนุบาล หากครูให้เด็กสงบใจ พวกเด็กๆจะตกลงเข้าคิวเอง

       แต่หากสมมุติว่าให้เด็กดีสุด เก่งสุดได้กินก่อนล่ะ “เอ้า สุมาสูจ๊ะ หนูเป็นเด็กดี เชื่อฟังครู หนูเอาแอปเปิลไปกินก่อนเลย” เด็กๆที่เหลือก็จะเกิดความทรงจำในใจว่าถ้าอยากได้ของดีๆก่อนก็ต้องให้ทำตัวแบบนี้ ทีนี้ก็จะเกิดการเลียนแบบ เด็กบางคนเลียนแบบไม่ได้ ก็จะเริ่มพาล กลายเป็นคนเกเร จับตะกร้าแอปเปิลได้ก็โยนลงถังผง เกิดความขัดแย้งในกลุ่มเด็กเอง แย่ไปกว่าเดิมอีก นี่จึงเป็นที่มาของแผนใช้คนไกลก่อน นั่นคือให้คนที่ตัวเองไม่ถูกใจ เหม็นขี้หน้า (แต่ฝีมือมี) ได้ตำแหน่งก่อน ขอเพียงปฏิบัติต่อเขาอย่างยุติธรรม ถูกต้อง เที่ยงตรง ใจคนก็เริ่มวางใน สถานการณ์ก็จะสงบลงได้เอง 

       เงื่อนไขของเหตุการณ์ที่เล่าปี่เผชิญคือ คนเยอะ ใจเร่งร้อน ไร้ระเบียบ ไอ้ครั้นจะใช้ระเบียบ ปูนบำเหน็จแบบนางฟ้าโปรยดอกไม้ ให้ทุกคนได้รับถ้วนทั่วก็ไม่ได้ จำเป็นต้องใช้เวลา  วิเคราะห์ ตรวจสอบก่อน จึงให้รางวัล แต่ไอ้ครั้นจะมานั่งตรวจสอบทีละคนก็เสียเวลาตายเลย วิธีที่เร็วที่สุดก็คือให้เริ่มจากคนที่เราไม่ชอบหน้า ไม่ถูกตาก่อนนี่แหละ ใครผ่านเกณฑ์ก็ให้ตำแหน่ง ทำแบบนี้เรียกได้ว่าลงเสาเข็มให้ก๊ก ใจคนจะเริ่มมั่นคง มีความเชื่อมั่น ปัญหาของเจ้าหน้าที่ผู้ทำงานก็จบลงตรงนี้


 

งานชิ้นสำคัญอีกอย่างหนึ่งของขงเบ้งก็คือการร่างกฎหมายเพื่อประกาศใช้ในอาณาจักร อันว่าความเป็นระบบคือพื้นฐานของการบริหาร การจัดการไม่อาจยึดตามบุคลิกลักษณะของแต่ละคน มีคนกล่าวว่าการจัดการที่ดีพอสามารถใช้ภูติผีทำงานของเทวดาได้ แต่หากบริหารไม่ดี แม้จะใช้เทวดาทำก็กลายเป็นงานของภูตผีได้ คุณไม่อาจมานั่งเปลี่ยนคนให้เป็นเทวดาไปซะหมด พ่อแม่ยังเปลี่ยนเขาไม่ได้ แล้วคุณเป็นใครกัน ขอแค่คุณวางระบบไว้ แล้วให้ทุกคนดำเนินตาม เพียงเท่านี้ทุกคนก็สามารถทำงานให้เหมือนเทวดาได้

ระบบที่ขงเบ้งวางไว้นั้นเข้มงวดมาก จนมีคนทัก เขาคือหวดเจ้ง (ฝ่าเจิ้ง) เขาถามว่าลดหย่อนหน่อยไม่ได้เหรอ เอาอย่างฮั่นเกาจู่เล่าปังไง ตรากฎแค่สามบท ได้ใจประชาชน แผ่นดินสงบ พี่ท่านเล่นเขียนซะสามร้อยบท นี่มันไม่เยอะไปหน่อยเหรอ ขงเบ้งจึงว่าเหตุที่เล่าปังตรากฎง่ายๆเพราะนายเก่าสมัยฉินมีกฎเข้มงวดเกินไป ประชาชนลำบาก เล่าปังใช้แค่สามบทก็ซื้อใจประชาทั่วหล้า ทว่าเล่าเจี้ยง อดีตนายเก่าของที่นี่นั้นต่างกันออกไป เขาหย่อนยานเกินไป มีเมตตา แต่ไร้ซึ่งอำนาจ ไม่เคยใช้กฎเข้มงวด ตอนนี้เราถึงคุมสถานการณ์ไม่อยู่ จำเป็นมากที่ต้องใช้กฎแบบนี้ บันทึกสมัยเก่าบอกว่า “ชงเบ้งกล่าวไว้ จุดอ่อนของเล่าเจี้ยงคือความล้มเหลวของระบบ ไม่มีการจัดการที่ดีพอ” 

ที่เล่าเจี้ยงทำเป็นคือความมีเมตตา ทว่าเราถกถึงการปกครอง มิใช่ศีลธรรม คุณเอาแต่ผูกใจคนด้วยตำแหน่ง ลาภยศ ความเมตตาอยู่เรื่อยไป ซักวันหนึ่งการให้แบบนี้จะถึงทางตัน เมื่อตำแหน่งสูงสุดแล้ว เงินมีไม่พอให้ ความเมตตาจะกลายเป็นความคับแค้นล่ะทีนี้ ฉะนั้นสิ่งที่ขงเบ้งทำคือก่อนปูนบำเหน็จรางวัล จำต้องทำระบบการปกครองให้เข้มงวด พอระบบเข้มงวดแล้วเราประกาศเกียรติคุณให้ เขาถึงจะรู้จักเกียรติยศ มีแต่การให้ตำแหน่งอย่างมีเงื่อนไขจำกัด เขาถึงจะรู้ค่าของตำแหน่งนั้น สมมุติคุณให้ขนมเด็กกิน หาคุณบอกว่าขนมนี่มีเยอะแยะ ความอร่อยน่ากินจะลดลงครึ่งนึง มีเยอะแล้วนิ จะกินเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ถ้าบอกว่ามีไม่เท่าไหร่หรอก ความปลื้มอิ่มเอมในรสชาติจะเพิ่มเป็นเท่าตัว 

ทั้งหมดนี่เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมขงเบ้งต้องใช้กฎระเบียบเข้มงวด แผนขั้นต่อไปของขงเบ้งคือ “เข้มงวดก่อน ผ่อนปรนทีหลัง” ความผ่อนปรน เป็นกันเองเกินไป ทำให้เล่าเปียวนำทหารรบไม่เป็น ขงเบ้งว่าตอนแรกน่ะเข้มงวดไปก่อน รอโอกาสดีๆ สถานการณ์เข้ารูปเข้ารอย ถึงตอนนั้นค่อยผ่อนปรนกฎอย่างช้าๆ
เมื่อกฎนี้ถูกใช้แล้ว คำถามต่อไปก็คือว่า ยามที่คุณเป็นผู้นำกลุ่มคน เราต้องมีระบอบปกครอง แต่ถ้าเราเป็นหัวหน้าของบุคคลหนึ่งๆล่ะ จะทำไงดี อันนี้ก็ต้องใช้กลยุทธ์ที่ต่างกันออกไปอีก ขงเบ้งต้องเผชิญกับแรงกดดันของขุนนางคนอื่น ขุนนางคนที่ออกลายก่อนใครเลยก็คือหวดเจ้ง ตอนยึดเสฉวนได้ หวดเจ้งได้ตำแหน่งเป็นแม่ทัพขั้นสูง กินตำแหน่งเจ้าเมืองด้วย พอหวดเจ้งมีตำแหน่งแล้ว ท่าทีเขาก็เปลี่ยนไป เขาชอบใครก็ชอบออกนอกหน้า เกลียดใครก็โกรธกันตรงๆ ขุนนางหลายคนก็ส่งรายงานไปที่ขงเบ้งเรื่องนิสัยของหวดเจ้งนี่ 

ขงเบ้งก็ใช้กลยุทธ์ที่ว่า 上敬下威 重用分开 เพิ่มความเคารพ ลดการขู่เข็ญ แยกคุณค่ากับศักดิ์ศรีออกจากกัน (ฟังดูอาจจะงง แต่อ่านไปก็จะเข้าใจเอง) ขงเบ้งเมื่อรับรายงานแล้ว ก็ว่าก่อนหน้านี้นายเราเล่าปี่อยู่เกงจิ๋ว กลัวทั้งโจโฉซุนกวน หากไม่มีหวดเจ้ง ก็ไม่มีเล่าปี่ในวันนี้  หากจะให้หวดเจ้งเปลี่ยนนิสัย ก็มีแต่ต้องทำด้วยเจตจำนงของตัวเขาเอง ขงเบ้งพูดจบแล้ว ขุนนางทั้งหลาย รวมไปถึงปราชญ์รุ่นหลัง ต่างก็มีคำถามในใจต่อขงเบ้ง อย่างแรกก็คือเขาเป็นผู้คุมกฎแท้ๆ ทำไมไม่บังคับใช้กันเล่า สองคือ หรือว่าขงเบ้งหลัวหวดเจ้ง ไม่กล้าเผชิญหน้าท้าทายโดยตรง? ไม่ใช่ทั้งคู่

ในตอนนั้น จริงอยู่ว่าแม้ขงเบ้งจะใหญ่จริง แต่ว่าคนที่เล่าปี่ชื่นชอบโปรดปรานที่สุดกลับเป็นหวดเจ้ง หากงานแรกของขงเบ้งคือการไปสยบคนโปรดของเล่าปี่ ถ้าพูดน้อยหน่อยก็คือไม่รู้กาลเทศะ ถ้าพูดให้แรงหน่อยก็คือเอ็งจงในเป็นปฏิปักษ์ต่อหัวหน้าตั้งแต่เริ่มงานเลย ต่อให้เจ้านายไม่คิดแบบนี้ แต่คนอื่นล่ะ แม่ทัพล่ะ ขันทีล่ะ สื่อมวลชนล่ะ เขาคิด ขงเบ้งไม่อาจไปลบเหลี่ยมหวดเจ้งโดยตรงได้  เพราะ 1. ต้องระมัดระวัง ไม่งั้นจะกระทบกับองค์กรโดยรวม 2. หวดเจ้งเป็นผู้ได้รับการสนับสนุนส่งเสริมรายใหญ่ที่สุด เมื่อคุณมีอำนาจในมือ สิ่งแรกที่ทำคือลงมือกำจัดคน คนเขาจะคิดว่า 卸魔杀驴 ฆ่าลาลากโม่ได้ ชาวบ้านเขาจะคิดยังไง ไอ้ขุนนางที่เพิ่งจะยอมแพ้มาจะคิดยังไง เขาเห็นเขาก็ไม่ยอมคุณแล้ว ก็เหมือนลาที่ตีจากไป จะมีตัวไหนมายอมลากโม่ให้อีกเล่า เพื่อควบคุมสถานการณ์ทั้งทางกายภาพและจิตใจ คุณไม่อาจลงมือโดยตรงได้เลย 

 
ความแรงของสำนวนนี้ก็พอๆกับเสร็จนาฆ่าโคถึกนั่นแล

3.เขาไม่ใช่คนเลอะเลือน ทำไมเขาต้องออกมาแก้แค้น เพราะว่าเขาถูกกดขี่มานาน เหมือนสปริงที่ถูกกดหนักๆ มันย่อมดีดเด้งมาแรง ที่จริงหวดเจ้งก็ไม่ใช่คนเลวนัก ถ้าลองสืบประวัติดีๆ จะพบว่าต้นตระกูลเขาแต่ปางบรรพ์ล้วนแต่เป็นผู้ดีมีการศึกษา หวดเจ้ง เขียนเป็นภาษาจีนได้ว่า  法正 แปลว่าเที่ยงตรงตามกฎหมาย ชื่อรองเขา 孝直 แปลว่ากตัญญู ตรงไปตรงมา บ้านเขาสอนมาอย่างเข้มงวด สิ่งที่เขากระทำล้วนไม่มีอะไรที่คิดว่าแรงเกินไป เสียตรงที่เขาใจร้อนไปหน่อย ขอเพียงแค่ตักเตือนเขาหน่อยก็น่าจะเอาอยู่ ไม่ว่ามองมุมไหน ขงเบ้งก็ไม่ควร และไม่จำเป็นต้องใช้แผนเล่นงานโดยตรง ใช้จุดด้อยเล็กๆมากัดไม่ปล่อยกับหวดเจ้งเลย
ขงเบ้งเลือกที่จะใฃ้แผน 上敬下威 ตักเตือนด้วยความหวังดี มากกว่าจะลงไม้ลงมืออย่างรุนแรง ซึ่งว่ากันตามจริง วิธีที่จะทำให้คนมาฟังเรา เห็นด้วยกับเราในการพูดคุยแต่ละครั้ง มีสองวิธี หนึ่งคือใช้กำลัง ไม่ว่าด้วยอาวุธ ด้วยการขู่ ด้วยการแบล็กเมล์ ให้อีกฝ่ายยอมฟังอย่างเลี่ยงไม่ได้ อีกทางคือยกยอสอพลอ อวยอีกฝ่ายให้ยอมฟัง ขงเบ้งใช้วิธีที่สอง เพราะวิธีแรกเพียงใช้ได้ชั่วคราว อีกทั้งไม่ได้มาจากใจตัวเอง การใช้วิธีที่สองจะยั่งยืนกว่า 

สมมุติว่าคุณอยากให้เด็กกวาดบ้านให้ คุณเอาแต่สั่งๆให้เด็กกวาดบ้าน พอไม่กวาดก็สาปแช่งยาวเลย เผลอๆลามไปถึงคนอื่น อย่าง “เอ็งนี่มันขี้เกียจเหมือนพ่อ/แม่เอ็งเลย” เด็กจะไม่อยากทำ อย่าแรกเป็นเพราะเขารู้สึกว่าเคยมาสอนมาดูมั่งมั้ย เอาแต่สั่งๆ ไม่แนะนำ เดี๋ยวก็ไม่ถูกใจอีก ก็ด่าอีก อย่างที่สองเด็กเขาจะเห็นบ้านเป็นเหมือนสถานกักกัน เขาเป็นแค่เครื่องมือ ลดคุณค่าตัวเองอีก แต่คุณลองเปลี่ยนวิธี ให้คุณชมผลการเรียน ชมการทำการบ้าน แล้วค่อยลองขอให้เขากวาดบ้าน เด็กก็แทบจะกวาดไปยิ้มไปเลยทีเดียว นอกจากนี้แล้วยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับเด็กด้วย

ไม้อ่อนย่อมดีกว่าไม้แข็ง ทำให้คนยอมสยบได้นานกว่า และเต็มใจกว่า ขงเบ้งก็เข้าไปชื่นชมและบอกว่าจะเป็นคนดีต้องเป็นแบบใดแก่หวดเจ้ง ก็ได้ผล หวดเจ้งเข้าใจ และยอมปรับปรุงตนแต่โดยดี วิธีการนี้ ขงเบ้งไม่ได้ใช้แค่กับหวดเจ้งคนเดียว ยังมีอีกคนหนึ่งที่เขาใช้แผนนี้ นั่นคือเล่าเจ้ง คนที่ตีจากเล่าเจี้ยงมาเข้าร่วมกับเล่าปี่ตอนล้อมเมืองอยู่ เขาไม่ใช่คนธรรมดา แต่เป็นปราชญ์มีชื่อแห่งอี้โจว ซานกว๋อจื้อบันทึกไว้ว่าเคาเจ้งร่างกายกำยำ หน้าตาหล่อเหลา เยี่ยมยุทธ์และปัญญา ในสมัยนั้นทั้งเจ้าเมืองแถวนั้นและสาวน้อยสาวใหญ่ต่างก็อยากได้ตัวเขามาไว้ในครอบครอง 

เวลาค้นภาพของนายเคาเจ้ง (ฃื่อจีน许靖 ) มักจะมีภาพสาวๆติดมาด้วย มันบังเอิญไปหรือเปล่า

ทว่าเคาเจ้งไม่ใช่คนทำอะไรจริงจัง ตอนที่เชงโต๋โดนตีแตกนั้น คนอื่นเขาพร้อมจะอยู่สู้ต่อ มีแต่เคาเจ้งนี่แหละที่หนีมาขอเข้าร่วมทัพเล่าปี่ หลายๆคนจึงดูถูกดูหมิ่นเคาเจ้ง ตอนหลังๆเคาเจ้งได้เป็นถึงราชครู ตำแหน่งสูงกว่าขงเบ้งอีก คนที่ขงเบ้งต้องเคารพก้มหัวให้มีแค่สามคนเท่านั้น คือเล่าปี่ เล่าเสี้ยน และเคาเจ้งนี่แหละ การที่ขงเบ้งเคารพคนแบบนี้ นี่ก็เป็นแผนเหมือนกัน แม้ตำแหน่งราชครูจะดูสูงส่ง แต่อำนาจไม่มี นี่เรียกว่า 重而不用 มีค่าแต่ไร้ความสำคัญ คนจีนมักพูดเสมอว่าเป็นคนทั้งทีต้อง重用 มีค่าและความสำคัญ แท้จริงแล้วสองเรื่องนี้มันแยกกันได้ คือมีค่า มีฐานะ คือมีประโยชน์ มีอำนาจ ขงเบ้งมองว่าตำแหน่งของเคาเจ้งนั้นมีฐานะ มีความน่าเคารพ แต่ไร้ซึ่งประโยชน์และอำนาจจัดการ คือ 重用分开 นั่นเอง

ที่ขงเบ้งทำแบบนี้เพราะว่าเคาเจ้งเป็นคนดัง ตั้งตำแหน่งเพื่อให้ก๊กดูดี ว่าดูน่าเข้าร่วม ใครเห็นใครก็ชอบ แต่เคาเจ้งก็มีดีอยู่แค่นั้น เขาจะทำอะไรก็ช่าง ไม่สนใจ เราแค่ยืมชื่อเสียงเขามาใช้ แล้วกลยุทธ์นี้ก็ส่งผลดี มีคนปัญญาดีทั้งบุ๋นบู๊มาเข้าร่วมด้วยหลายคน จากจุดนี้จะเห็นได้ว่าคนอย่างหวดเจ้ง เคาเจ้ง สองคนนี้เพียงใช้ไม้อ่อน ให้ความเคารพ ให้เกียรติ เท่านี้ก็จัดการใช้คนอย่างพวกเขาได้ แม้จะมีปัญหายุ่งยากบ้าง แต่ก็ไม่เท่าไหร่ คนที่เราจะมีปัญหาในการจัดการใช้สอยด้วยจริงๆก็คือคนที่ผู้นำให้ความเชื่อใจ และใกล้ชิดผู้นำมากกว่า ยามเมื่อคนแบบนี้ทำอะไรผิด คนรอบข้างก็จะดูปฏิกิริยาของผู้นำ และตัวขงเบ้งว่าเขาจะทำยังไง ขงเบ้งควรจะใช้คนแบบนี้ยังไง ต้องคอยดูกันต่อไป

คนที่เข้าข่ายตามเงื่อนไขเมื่อครู่นี้ก็คือ เล่าฮอง ขงเบ้งใช้กลยุทธ์ 近严远宽 ใกล้เข้มงวด ไกลผ่อนปรน 罚上立威คาดโทษคุมอำนาจ เรามาดูภูมิหลังของเล่าฮองกันก่อน เดิมเขาชื่อเค้าฮอง ตอนที่เล่าปี่มาเกงจิ๋วใหม่ๆ ยังไม่มีลูก ก็รับเค้าฮองเป็นลูกบุญธรรม ตอนที่ไปตีเสฉวนกันก็อายุได้ประมาณ 20 ปีพอดี วัยกำลังเลือดร้อน อยากลองวิชายุทธ์ หลังยึดเสฉวนได้ก็เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ช่วยรองแม่ทัพแห่งสำนักพระราชวัง ภายหลังก็ร่วมกับเบ้งตัดไปเข้าตีส้างหยง ตอนหลังๆเล่าปี่กังวลว่าเบ้งตัดจะคุมทัพได้ไม่ดี เลยให้ตัวเองกับเล่าฮองมาคุมทัพด้วยกัน จากตรงนี้จะเห็นได้ว่าเล่าปี่มีความเชื่อมั่นในตัวลูกคนนี้มาก 

ตอนหลังจากเสร็จศึกส้างหยงแล้ว เล่าปี่ก็เพิ่มตำแหน่งเล่าฮองให้เป็นรองแม่ทัพ อยู่ช่วยเบ้งตัดรักษาเมืองส้างหยง จากนั้นมาเล่าฮองก็เริ่มบ้าอำนาจ เขาทำความเสียหายร้ายแรงสามอย่างให้กับก๊กตัวเอง อย่างแรกคือตอนที่กวนอูบุกห้วนเสีย เขาส่งสารไปขอความช่วยเหลือแก่เล่าฮองหลายครั้ง แต่เล่าฮองไม่ช่วย สุดท้ายกวนอูพ่าย ต้องหนีจนโดนจับตายโดยลิบอง เล่าปี่รู้เรื่องก็โกรธมาก อย่างที่สอง พอเล่าฮองมาอยู่ช่วยเบ้งตัดก็ 居功自傲 ลำพองตน ก็หาเรื่องทะเลาะกับเบ้งตัดอยู่บ่อยครั้ง จนเบ้งตัดกลัว ก็เลยหนีไปเข้าร่วมวุยก๊ก เป็นความสูญเสียครั้งใหญ่อีก ครั้งที่สามคือการเสียเมืองส้างหยง ซินหงีแอบก่อการกบฏอย่างลับๆ คนอื่นระแคะระคาย แต่เล่าฮองไม่นำพา ไม่ตรวจสอบ พอซินหงีก่อการสำเร็จ เล่าฮองไม่คิดแม้แต่จะต่อต้าน ได้แต่หนีมาตัวเปล่ากลับเมืองหลวง 

ช่วงเวลานั้น ความรักในตัวเล่าฮองของเล่าปี่หายไปหมดแล้ว เล่าปี่ถามขงเบ้งว่าจะเอายังไงกับเล่าฮองดี ความคิดแรกของเล่าปี่คิดว่าจะลงโทษให้จงหนัก ทรมานใช้แรงงานเยี่ยงทาส คาดไม่ถึงว่าขงเบ้งผู้สงบ สุภาพจะเสนอโทษตาย ให้ประหารเล่าฮอง ขงเบ้งแจกแจงเหตุผลให้ฟังว่าเล่าฮองเคยเป็นคนโปรดของท่านมาก่อน หากท่านให้อภัย หรืองลงโทษเบาไป เราจะมีปัญญาไปสั่งการ บริหารคนอื่นอีกหรือ ถ้าเทียบกับยุคปัจจุบัน ถ้าคนในบ้านยังคุมไม่ได้ ยังริจะไปคุมคนอื่นได้หรือ หากลูกหลานเป็นผู้นำกลุ่มคนในบริษัท ถ้าเราลงโทษหนักมือ ลูกหลานจะเกลียดเรา ถ้าลงโทษเบาไป พนักงานในบริษัทจะเกลียดเรา หากไม่ทำอะไรเลย คนเกลียดจะขยายวงกว้างไปยังคนภายนอกด้วย ถ้าจะควบคุมมหาชนทั้งนอกใน เราได้แต่ใช้ทางเลือกแรก คือลงให้หนักมือ

เหตุผลที่สองของขงเบ้งคือ เล่าฮองเป็นลูกหลานท่าน เท่ากับว่าเขามีส่วนเป็นฮ่องเต้ด้วย อายุแค่ยี่สิบกว่าๆ มีกำลังพลในมือ ยังกร่างขนาดนี้ เสียหายขนาดนี้ อีกหน่อยเกิดให้เขาสืบทอดตำแหน่ง พาก๊กเจ๊งจะทำไง คนจีนเรามีคำกล่าวว่าความย่อยยับที่แท้จริงมักเกิดจากคนข้างกาย มีแต่การจัดการที่ดีและเข้มงวดเท่านั้นถึงจะควบคุมได้ เล่าปี่จึงกัดฟันสั่งให้เขาฆ่าตัวตาย
เวลาที่ขงเบ้งต้องมาบริหารจัดการคนใกล้ตัว ลูกหลานของเล่าปี่ ข้อแรกที่เขาจะทำก็คือแผน “ใกล้ให้เข้มงวด ไกลให้ผ่อนปรน” หมายถึงคนในคนใกล้ตัวผู้นำให้เข้มงวดกับเขาไว้ก่อน แต่กับคนไกลตัว คนที่ไม่ใช่ญาติต้องโอนอ่อนผ่อนตาม ยามที่เราใกล้ชิดคนใกล้ตัว แลกเปลี่ยนความรู้สึก ถ่ายทอดความนึกคิด กลัวแต่ว่าเมื่อนานๆไปคนพวกนี้จะทำสิ่งที่ไม่ควรทำ พูดสิ่งที่ไม่ควรพูด อันเนื่องมาจากความเคยชินหรือหลงในอำนาจจนละเลยตำแหน่งฐานะ ถ้าจะควบคุมไม่ให้เกิดความผิดพลาด ต้องเข้มงวดกวดขัน หากคนใกล้ตัวผู้นำทำความผิดพลาดแล้ว จะนำพาความเสียหายมาถึงเราสามอย่าง
  • หนึ่ง ก่อกำเนิดความขัดแย้ง ความเสียหายจะมาถึงเรา ผู้นำผู้บริหารเป็นคนแรกเลย ไม่ใช่คนใกล้ตัวที่ทำผิดนั่น
  • สอง เสื่อมเสียชื่อเสียง เวลาที่คนทำผิด เขาไม่ด่าคนทำ เขาจะด่าผู้บริหารจัดการ ผู้นำนี่ล่ะ
  • สาม นำมาซึ่งความเจริญของพฤติกรรมแย่ๆ ประมาณว่า เฮ้ย คนใกล้ตัวผู้นำทำพลาดแล้ว ผู้นำไม่จัดการว่ะ ชนชั้นล่างอย่างเราก็เอามั่งสิ คนใกล้ตัวทำแค่หนึ่งเรื่อง มหาชนจะทำเพิ่มอีกสิบเรื่อง
ฉะนั้น หากเราเป็นผู้บริหาร ต้องควบคุมคนใกล้ตัวผู้นำให้ดี ไม่ว่าจะอยู่ในระดับไหน ตำแหน่งใดก็ตาม จะลูกหลานหนุ่มแก่เด็กเล็ก ที่เป็นเลขา คนขับรถ ผู้ช่วย คนสวน ล้วนแต่ต้องทำให้อยู่มือเพื่อป้องกันความผิดพลาด ขงเบ้งต้องทำแบบนี้ ไม่งั้นก๊กจะเสียหาย ทว่ากับชนชั้นล่าง ผู้ร่วมงานที่ไม่เกี่ยวดอง ขงเบ้งกลับทำอีกอย่าง เวลาคนพวกนี้ทำผิด แค่ไปว่ากล่าวตักเตือนหัวหน้าแผนก หัวหน้ากลุ่มเท่านั้น หรือปล่อยให้หัวหน้าพวกเขาจัดการกันเองก็พอแล้ว 

กับคนไกลตัว คนพวกนี้เราไม่ได้ใกล้ชิด แถมอีกฝ่ายต้องเคารพเราอยู่แล้ว เจาจึงต้องสวนหน้าเปื้อนยิ้มเข้าหาตัวเขา อยากให้ทุกคนลองคิดดูว่าคนงาน พนักงานระดับล่างมีจุดเด่นหลายอย่าง ทว่าให้ลองนึกถึงกระดาษขาวที่แต้มจุดไว้ ถามว่าจุดกับสีขาวอะไรเด่นกว่ากัน ต้องเป็นจุดดำๆแน่ๆ คนเรามีความอ่อนไหวต่อจุดเลวข้อด้อยมากกว่าจุดดี แต้มดำแต้มเดียวทำกระดาษขาวดูหม่นไปทั้งแผ่น เวลาเข้าหาพวกชนชั้นไกลตัว ชนชั้นล่าง เราต้องทำตัวให้ดูน่าอบอุ่น ดูน่าคบหาอยู่เสมอ อย่าเอาแต่หาจุดเสียของเขา นี่เป็นข้อสำคัญของกลยุทธ์ใกล้เข้มงวด ไกลอ่อนโยน

ที่จริงเรื่องของเล่าฮองนี้ ขงเบ้งยังได้ประโยชน์เติมเข้าไปอีก นั่นคือคาดโทษเพื่อคุมอำนาจ ทำไมขงเบ้งต้องลงมือเก็บเล่าฮอง เพราะตอนนั้นคณะรัฐบาลของจ๊กก๊กเข้าปกครองแล้ว ตอนนั้นตีได้ดินแดนของเตียวฬ่อ เล่าเจี้ยง โจโฉ จ๊กก๊กกำลังมือขึ้น ความเย่อหยิ่งหัวแข็งของเหล่านายทัพกำลังก่อตัว เพื่อสั่งสอนและขู่ขวัญนายทัพพวกนี้ ขงเบ้งจำต้องเชือกไก่ให้ลิงดู ต้องหาคนที่เข้าข่ายเพียงพอ 

ยกตัวอย่างให้ดูง่ายๆ สมมุติว่าเราคุมช้างกลุ่มหนึ่งมาทำงาน เหล่าช้างไม่ยอมทำ กระด้างกระเดื่อง แล้วจะทำยังไง เปิดประชุมด่วน บอกว่าเรามันคนกันเอง ตัวใหญ่เหมือนกัน มีอะไรก็ช่วยๆกันสิ ข้าน่ะเป็นนายของพวกเจ้า ข้าเป็นคนมีหลักการ ทำอะไรก็ยึดถือน้ำใจนะ แต่ก็ไม่ค่อยเอาหลักการมาใช้ ใครกล้าขัดขืน ข้าจะลงมือให้จงหนัก ว่าแล้วก็หันซ้ายหันขวา เจอมดตัวหนึ่งเกาะขอบประตู ก็เข้าไปตะคอกใส่ แกไอ้มดนอกคอก คนของแผนกไหนกัน ทำไมไม่เดินเข้าประตูมาดีๆฟะ ข้าจะจัดการเจ้า ว่าแล้วก็จับมดมาบี้แบนคามือ เหล่าช้างเห็นได้แต่ส่งเสียง ฮูม แปร๋น ถุยมันคงจะฟังอยู่หรอก เชือดมดให้ช้างดู มีแต่จะโดนหัวเราะเยาะ
กลับกัน ให้คุณปกครองมดกลุ่มหนึ่ง คุณเข้าไปพูดกับมดด้วยคำพูดอย่างเดียวกับช้างก่อนหน้านี้ หันซ้ายหันขวา ไปเจอช้างขวางประตู ก็ตะคอกว่าแกอยู่แผนกไหน ช้างหรือว่าหมู มายืนขวางประตูเนี่ย พูดจบก็ลากงวงมันมา ตบจนช้ามึนช้างเซ กลับมามองมดอีกที ทุกตัวชูหนวดชูมือ ส่งเสียงพร้อมกัน “ท่านผู้นำจงเจริญ” รีบปฏิญาณตนโดยทันที การฆ่ามดให้ช้างดู มีแต่จะโดนหัวเราะเยาะ แต่การฆ่าช้างให้มดดู จะทำให้มดตกตะลึง

ที่ซุนวูประหารนางสนมโปรดฮ่องเต้ ซือหม่าหรางประหารจวงกู่ ก็ด้วยเหตุผลเดียวกับขงเบ้งประหารเล่าฮอง คือทำไปเพื่อรักษาระเบียบ อันที่จริงเราจะไปไล่ฆ่าคนที่ไม่เชื่อฟังทุกคนคงไม่ได้ เลือกเอาคนที่ดุดัน อารมณ์ร้อน เย่อหยิ่ง อามาแล้วไม่พูดมาก จับประหารมันตรงนั้น คนที่เหลืออยู่จะตกตะลึง และเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู อันที่จริงสำนวนนี้ค่อนข้างจะมีปัญหา ไก่กับลิงอะไรตัวใหญ่กว่ากัน ลิงขนทอง ลิงไท่ซาน ลุกขึ้นยืนก็ใหญ่กว่าไก่แล้ว คุณเชือดให้มันดู มันคงจะสนใจหรอก กลับกัน ให้เชือดลิงให้ไก่ดู ไก่จะรีบกลัวลนลานไม่ทันกันเลยทีเดียว นี่เรียกว่าคาดโทษเพื่อคุมอำนาจ 
 
ภาพวาดของสำนวนนี้ในจีนมักจะออกไปทางลิงไม่กลัวเสียส่วนมาก ลิงกับไก่ไม่เกี่ยวข้องกัน ไก่ดวงซวยโดนเชือดฟรี

ถ้าต้องการรักษาระเบียบอำนาจ คุณต้องเรียกไอ้ตัวใหญ่มาข่มขวัญให้ดูก่อน ขงเบ้งประหารเล่าฮองเพราะเหตุผลสามประการ หนึ่ง สงบใจคนในกองทัพ สอง หลีกเลี่ยงภัยพิบัติในวันหน้า สาม เป็นการเชือดลิงให้ไก่ดู ปรามใจแม่ทัพน้อยใหญ่ เรียกได้ว่าเสียหนึ่งคน รักษาทั้งกองทัพ ทั้งประเทศ ทว่าการสั่งประหารเล่าฮองก็ทำให้เกิดปัญหาอยู่บ้าง ขงเบ้งเป็นรองผู้นำ อำนาจเขาเล็กกว่าแค่เล่าปี่คนเดียว จัดการกับปัญหาลูกคนโปรดของเล่าปี่อย่างหนักมือ แม้ว่าเป็นการตัดสินใจ ผ่านการคิดมาอย่างดีแล้ว แต่ก็ยังมีคนแอบสงสัย นี่ทำเกินไปหรือเปล่า เกิดปัญหาคนมีอำนาจใหญ่หลวง จนสั่นคลอนราชวงศ์ ขงเบ้งต้องเผชิญกับปัญหาที่คนประเภท “อยู่ใต้หนึ่งคน อยู่เหนือนับหมื่น” ต้องเจอ คือคุณมีอำนาจบริหารเกินตัว ทำให้ขุนนางระดับล่างจนถึงผู้นำอย่างเล่าปี่ต้องขัดข้องใจ ขงเบ้งพบปัญหานี้แต่เนิ่นๆ เขาจึงต้องวางตัวต่อหัวหน้าตัวเองซะใหม่ เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะ ข้อขัดแย้งในวงการงาน แล้วเขาจะใช้วิธีอะไร เชิญติดตามต่อตอนหน้าครับ