วันเสาร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2557

รู้อย่างขงเบ้ง (8 End) : เฟ้นหาผู้สืบทอด



ในงานบริหารธุรกิจ หนึ่งในปัญหาที่ผู้นำต้องเจอบ่อยๆก็คือการตั้งผู้สืบทอดต่อไป ในหน่วยงานเรามีคนที่มีฝีมือ มีคุณภาพ แต่ครั้นจะตั้งให้เป็นผู้รับช่วงต่อ ก็ดันรู้สึกว่าคนโน้นคนนี้คุณสมบัติไม่น่าถึงอีก ในบทนี้เราจะเรียนรู้ว่าคนแบบไหนที่มีคุณสมบัติในการรับช่วงสืบต่อการใหญ่จากเราไป เขามีความกังวลมากมายหลายอย่าง เช่นว่าจะคุมเล่าเสี้ยนได้มั้ย จะภักดีต่อก๊กหรือเปล่า จะพาก๊กไปรุ่งหรือร่วง เชิญรับชมการบรรยายจาก อ.เจ้าหยวี่ผิง ได้ในตอนสุดท้ายที่มีชื่อว่า ”เฟ้นหาผู้สืบทอด”

คนโบราณมักกล่าวว่า “คลื่นลูกหลังตามกลบคลื่นลูกหน้า คนใหม่มักมาแทนที่คนเก่า” หมายความว่าสรรพสิ่งล้วนมีการเปลี่ยนถ่ายแทนที่ ในการงานก็เหมือนกัน คนเก่าๆจากไป คนรุ่นใหม่ก็เข้ามาทำงานแทน บทนี้เราจะขับเน้นกฏที่ว่าถ้าอยากให้กิจการรุ่งตลอดไป เราจำเป็นต้องหาผู้สืบทอดรับช่วงต่อ เราจะมาศึกษากันว่าขงเบ้งเตรียมตัวยังไง ฝึกสอนผู้สืบทอดแบบไหน เขามีแนวคิดรับคนแบบใดกันแน่
                เราจะเริ่มจากเหตุการณ์เล็กๆในประวัติศาสตร์จ๊กก๊กกันก่อน ฤดูใบไม้ผลิ ปี ค.ศ.280 เขากิสานอันเขียวชอุ่มสดใส ชายผู้หนึ่งกำลังนำทัพเดินหน้าไปเมืองเทียนซุย เขาคือจูล่ง ยามนี้หกสิบกว่า ผมขาวทั้งหัวแล้ว ตอนนั้นเล่าเสี้ยนเพิ่งขึ้นครองราชย์ได้หกปีกว่า จ๊กก๊กฟื้นจากสภาพแพ้รบที่อิเหลงได้สมบูรณ์ ทั้งเบ้งเฮ็กจากด้านใต้ก็ไม่เป็นภัยอีกต่อไป ขงเบ้งตั้งจูล่งเป็นทัพหน้า นำกำลังห้าพันคนไปยึดคืนเมืองเล็กๆที่ชื่อว่าเทียนซุย พอถึงหน้าประตูก็ตะโกนว่า “ข้าจูล่งมาถึงที่นี่ พวกเจ้าตกอยู่ในแผนการของท่านสมุหนายกแล้ว รีบเปิดเมืองยอมแพ้ซะดีๆ” ซึ่งโดยปกติแล้วเมิองไหนได้ยินชื่อจูล่งก็ออกจะกลัวๆ ถ้าไม่ถอยหนียอมแพ้ ก็กำลังใจตกต่ำ 
 
คาดไม่ถึงว่าทหารในเมืองเทียนซุยกลับหัวร่อเยาะ พร้อมบอกว่าน่าขำนัก คนที่ติดกับคือพวกเจ้าตะหาก เจ้าน่ะแหละจะต้องแพ้ไป จูล่งได้ยินก็สงสัย ใครวะที่จะตีแผนของท่านบิ๊กเบ้งออก พลางเตรียมพร้อมจะรบเอาเมือง ก็ปรากฏว่าทัพจูล่งโดนล้อมตลบหลัง มีแม่ทัพวัยรุ่นนำขบวนมา แต่งกายกับใช้อาวุธแบบเดียวกับจูล่งทุกอย่าง จะขอท้าสู้ด้วย พอสุ้กันไปจูล่งก็เริ่มตกใจ ใครกันวะฝีมือดีมากเลย รบกันสิบกว่าเพลงแล้ว มือไม้ยังนิ่งไม่ปั่นป่วน ทั้งขณะนั้นทัพจูล่งเริ่มเสียหายหนักขึ้น จูล่งไม่มีทางเลือก ต้องตีฝ่าออกมา ถอยกลับก๊กตัวเอง

เรื่องที่จูล่งแพ้แม่ทัพหนุ่มกลับมาสั่นสะเทือนไปทั่วราชสำนัก ขงเบ้งเรียกพบด่วน จูล่งก็เล่าเหตุการณ์ให้ฟัง พร้อมกับเน้นเรื่องความเก่งของแม่ทัพเป็นพิเศษ ขงเบ้งก็ไปสืบสาวว่าไอ้หมอนี่เป็นใคร จนรู้ว่าเขาผู้นั้นชื่อว่าเกียงอุย ทั้งยังสืบทราบอีกว่า 1.เขากตัญญูเชิดชูแม่มาก 2.เก่งทั้งบุ๋นบู๊ 3.เพียบพร้อมทั้งความกล้าและปัญญา 4.ตอนนี้ฐานะยังต่ำต้อย นิสัยของคนทำงานใหญ่อย่างหนึ่งก็คือรักคนมีฝีมือ ขงเบ้งไม่คิดกำจัดทิ้ง แต่วางแผนให้เกียงอุยยอมแพ้มาเข้าด้วยฝ่ายตน 

มุมมองของขงเบ้งในการเลือกผู้สืบต่อ หากมองด้วยสายตาคนยุคนี้ก็เหมือนกับแมวมองเลือกตัววัยรุ่นไปทำงาน ขงเบ้งมีกฎการเลือกคนเป็นของตัวเอง หนึ่งในกฎเหล่านั้นกล่าวไว้ว่าเลือกไม้ต้องเลือกจากป่าทึบ เลือกคนต้องเลือกจากฝูงชน อีกบทคือหากผู้นำจะเลือกคนมีปัญญา ต้องเลือกในที่ลับๆ บทพวกนี้หมายความว่าไม้ที่ดีและสูงใหญ่ มักขึ้นอยู่ในป่าลึก ผู้มีปัญญาที่แท้จริงมักซ่อนตัวในดงมวลมหาประชาชน จะคัดเลือกออกไปต้องแอบทำอย่างลับๆ และต้องมองหาอย่างไม่หยุดหย่อน หนึ่งในกลยุทธ์เลือกคนของขงเบ้งคือ “เฟ้นหาในที่ลับ” คือสรรหาคนในที่ๆคนปกติเขาไม่หากัน

ผมรู้จักคนอยู่คนหนึ่ง เวลาเขาจะหาบัณฑิตจบใหม่มาทำงาน เขาไม่รีบไปหาตอนบัณฑิตเพิ่งจบหรอก รอจนคนอื่นเขารีบคัดตัวไปหมดแล้ว เขาจึงค่อยออกหาคน ถามว่าเขาทำยังไงน่ะหรือ เขาไม่ได้ไปตามหาแถวมหาลัยดังๆเลย เขาไปหาตามมหาลัยหรือโรงเรียนที่ไม่ค่อยดังเท่าไหร่ เพราะเขารู้ดีว่าตามโรงเรียนหรือมหาลัยดังๆ ไม่ว่ายังไงก็ต้องมีคนแอบไปหาอยู่ก่อนแล้ว ดีไม่ดีโดนดึงตัวไปก่อนจบจนหมดด้วยซ้ำ เขาจึงไปหาตามที่ๆไม่ค่อยดัง เพราะแม้จะหาลำบาก แต่โอกาสได้ก็ยังมีสูงกว่าที่ดังๆ และผลน่าพอใจกว่า
 
ขงเบ้งดึงตัวเกียงอุยได้ก็เพราะเหตุผลเดียวกันนี่เอง โดยมากแล้ววุ่ยก๊กเป็นที่รวบรวมคนเก่งไว้มากมาย และพวกนี้มักจะไปหาตามที่ใหญ่ๆมาร่วมทีมหมดแล้ว เมืองเทียนซุยเป็นเมืองเล็กๆ แมวมองวุยก๊กย่อมไม่มีวันมาหา เพราะโอกาสในการหามันไม่ค่อยแน่นอน ซึ่งนี่ก็คือหนึ่งในชุดตรรกะของคนจีน เรียกว่า “常有寒出国士 偏向低处寻高人 บัณฑิตมักเกิดจากครอบครัวต่ำต้อย จงสรรหายอดฝีมือจากที่ชั้นต่ำ” ถ้าใช้ภาษาเทียบง่ายๆก็คือหงส์ทองที่บินออกจากรังหญ้านั่นเอง ที่สุดแล้วขงเบ้งก็วางแผนดึงตัวเกียงอุยมาร่วมทีมได้สำเร็จ มักมีคำกล่าวว่าความสำเร็จของงานใหญ่ทั้งหมดอยู่ที่การใช้คน ความล้มเหลวครั้งใหญ่ก็อยู่ที่การใช้คนเหมือนกัน ฉะนั้นจงใช้คนให้เป็น ขงเบ้งเมื่อได้เกียงอุยมาแล้วก็ให้ความหวังไว้สูงมาก เพราะเกียงอุยเป็นคนที่เรียกได้ว่าเกรดสูง ดีทั้งร่างกายและปัญญา นอกจากนี้ขงเบ้งก็ยังคิดจะก่อตั้งทีมงานรุ่นใหม่ขึ้นมาด้วย  

ต่อไปนี้จะกล่าวถึงกฎการเลี้ยงดูฝึกฝนทีมงานชุดใหม่ ข้อแรกก็คือ

            หนึ่ง ใช้ตาแห่งปัญญาดูความสามารถ ใช้ตาแห่งปุถุชนดูนิสัย
ผู้นำที่ดีต้องมีตาสองอย่างนี้ แต่ก่อนจะพูดเรื่องต่อไปนั้น เรามาดูช่วงเหตุการณ์หนึ่งในชีวิตขงเบ้งกันก่อน นั้นก็คือก่อนตาย เขามีสภาพแบบไหน ยามบ่ายวันที่ 23 สิงหา ปี ค.ศ. 234 ขงเบ้งในสภาพที่ไม่มีแรงเหลือจะลุกขึ้นมาแล้ว ขึ้นเหนือบุกวุยมาสามเดือนกว่า ประจันหน้ากับสุมาอี้ที่ทุ่งอู่จ้าง ไม่มีความคืบหน้า ไม่มีผลที่น่าพอใจ ซ้ำร้ายกว่านั้นสภาพร่างกายตัวเองก็แย่ลงเรื่อยๆ นายทัพทหารเลวล้วนแต่กังวลใจ มีอยู่ช่วงนึงที่ขงเบ้งลุกขึ้นมาได้ กำลังใจทหารก็กระเตื้องขึ้น เกียงอุยนำขงเบ้งลงเก้าอี้เข็น ไปเยี่ยมเยือนทหารหน่วยต่างๆ และนี่ก็เป็นครั้งสุดท้ายที่ขงเบ้งได้ออกตรวจการณ์เยี่ยมเยือน 


 การเยี่ยมทัพครั้งสุดท้าย สภาพคงประมาณนี้

บันทึกซานกว๋อจี้กล่าวว่าแม้ขงเบ้งจะลุกขึ้นไหว แต่ก็ตัวเย็นเยียบ แทบไม่เหลือสภาพความมีชีวิตรอดแล้ว ขงเบ้งบ่นว่า “นี่ก็ยังรบไม่ชนะโจรกบฏเลย สวรรค์เบื้องบน ใยจึงให้ภารกิจนี้โหดสาหัสนัก” ที่เขาบ่นก็เป็นเพราะเขาไม่ไว้ใจ ขงเบ้งตายในสภาพที่ต่างจากเล่าปี่ตายมากมาย เล่าปี่จากไปอย่างหมดห่วง งานการก็ได้ฝากฝังแล้ว ลูกก็ได้ครองราชย์ปลอดภัยแล้ว ขณะที่ขงเบ้งยังมีอะไรที่ต้องกังวลอีกมากมายหลายอย่าง ขงเบ้งพูดประโยคนี้จบแล้วก็กลับเข้าพัก แล้วคืนนั้นขงเบ้งก็ได้จากไปอย่างไม่สงบใจเท่าไหร่ 

ก่อนที่ขงเบ้งจะตาย ช่วงชีวิตสุดท้ายเขาไม่กังวลกับสภาพตัวเอง เขารู้ว่าหมดทางรอดแน่แล้ว ไม่กลัวว่าตัวเองจะตาย แต่กลัวคนอื่นตายมากกว่า ทัพทหารที่ยกมา ทั้งทีมงานที่เลี้ยงดูกับมือ เกิดตายหมดนี่มิเจ๊งแย่หรือ เขาจึงกัดฟันตัดสินใจถอยทัพ เลือกคนมาคนหนึ่ง นั่นคือเอียวหงี ด้วยเหตุผลที่ว่า 1.เขาพอจะมีความรู้ด้านการจัดการในระดับที่ดีใช้ได้ ขงเบ้งตั้งเอียงหงีไว้เป็นเลขา งานเล็กงานใหญ่ล้วนแต่ผ่านมือเขามาหมด มีประสบการณ์ทุกด้าน 2.เอียวหงีหัวไว สมองไว ซานกว๋อจี้บันทึกไว้อย่างชัดเจน เอียวหงีไม่ว่าจะให้จัดทัพ เตรียมงานราชการ แบ่งกำลังพล จัดเสบียง เขาทำได้หมดภายในเวลาไม่นานนัก เราเคยพูดกันแล้วว่ายุคนี้ไม่ใช่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่เป็นปลาเร็วกินปลาช้า เอียวหงีทั้งรู้ทั้งไว น่าจะเหมาะที่สุดในการจัดการคราวนี้

การตัดสินใจของขงเบ้งทำได้ถูกต้อง เอียวหงีถอยทัพได้อย่างปลอดภัย ไม่เสียหนักมากนัก ตอนนั้นหลายคนรู้สึกว่าเขาทำได้ขนาดนี้ น่าจะเป็นผู้สืบทอดการงานของขงเบ้งได้นะ แต่ทว่าขงเบ้งกลับเลือกคนที่ด้อยแสงกว่าเอียวหงีเยอะ นั่นคือเจียวอ้วน ที่เขาไม่เลือกเอียวหงีเพราะเขามีจุดอ่อนด้านนิสัยอยู่ นั่นคือ 心胸狭窄 ใจแคบ เห็นแก่ตัว ขืนให้ทำงานใหญ่คงไม่ดีแน่ เขาเป็นคนไม่ยอมใคร ความสัมพันธ์กับคนอื่นไม่ดีนัก ตอนที่เขาเป็นราชเลขาให้กับนายเดิมเล่าป๋า มักจะขัดแย้งกันทางความคิดเสมอ ตอนเป็นขุนนางผู้ช่วยก็ขัดแย้งกับอุยเอี๋ยนอยู่บ่อยครั้ง นี่เป็นปัญหาใหญ่มาก

ขงเบ้งมองนิสัยเอียวหงีออกอย่างชัดแจ้ง งานด่วนงานรีบเราอาจใช้เขาได้ แต่งานธรรมดาในระยะยาว นิสัยของเขาไม่เหมาะตรงนี้ ตอนหลังพอเอียวหงีรู้ว่าขงเบ้งไม่ได้ตั้งเขาเป็นผู้รับมอบอำนาจต่อ เขาพูดประโยคหนึ่งที่แฝงความเกลียดชังมากออกมา เขาว่ารู้งี้ข้าไปเข้าร่วมกับพวกวุยก๊กให้รู้แล้วรู้รอด ไม่ต้องมานั่งเศร้าใจกับก๊กกากๆแบบนี้ ด้วยคำพูดประโยคนี้ ทางการสามารถสั่งประหารเขาได้ แต่ว่าเพราะเขามีคุณต่อก๊ก จึงลงโทษเบาะๆ แค่ปลดออก สุดท้ายเอียวหงีฆ่าตัวตายด้วยความระทมใจ ลักษณะเฉพาะของคนที่มีปัญหาทางนิสัยก็คือไม่อาจยอมรับความพ่ายแพ้และคำติฉินได้ เพียงยอมรับชัยชนะและคำเยินยอเท่านั้น หากคุณชมคนแบบนี้เขาก็นิ่งอยู่ได้ แต่หากคุณไปติเขาแล้วเขาทนไม่ได้ นี่เรียกว่ามีปัญหาแน่ๆ 

ผู้นำหากจะใช้งานใครสักคน หรือเลือกผู้สืบทอดรับช่วงงาน ต้องดูสองอย่าง หนึ่งคือความสามารถ สองคือนิสัย จะทำอย่างนี้ได้ ต้องมีสายตาที่เฉียบคม เรียกว่ามี “ตาแห่งวิจารณญาณ” หากจะมองนิสัยคน ต้องใช้มุมมองปกติ มุมมองทั่วไป เรียกว่ามี “ตาแห่งปุถุชน” ไม่มีอย่างแรกก็มองความสามารถไม่ได้ ไม่มีอย่างหลังก็มองจุดด้อยไม่ออก ขงเบ้งมองเอียวหงีแล้วพบว่ามีปัญหา เขาเห็นแก่ตัว ใจคด ไม่ยอมใคร ทำทุกอย่างเพื่อตนเอง เพราะยังงี้ เขาจึงไปเลือกเจียวอ้วนแทน

เหตุที่ขงเบ้งเลือกเจียวอ้วน ซานกว๋อจื้อก็มีเขียนไว้ ขงเบ้งบอกว่าเจียวอ้วนคือปัญญาแห่งรัฐ ความสามารถสูงเยี่ยม ที่จริงขงเบ้งใช้คำพูดนี้ชมบังทองด้วยเหมือนกัน การันตีความสามารถได้ พาก๊กรุ่งได้แน่ๆ ขงเบ้งมองว่าเตียวอ้วนทำการใดๆโดยมีรัฐและประชาชนเป็นที่ตั้ง ไม่ทำการเอาหน้า จากบทนี้เราสามารถมองเห็นความเชื่อมั่นในตัวเจียวอ้วนของขงเบ้งได้ดังนี้ 1.เจียวอ้วนฉลาด มีความสามารถ 2.เขาทำงานเพื่อประชาชน เพื่อก๊ก 3. เขาไม่ใช่นักสร้างภาพ เขียนรายงานไม่เก่ง ไม่เอาหน้าแน่นอน ขงเบ้งยังกล่าวไว้ว่าถ้าตนเองเป็นอะไรไป ให้เจียวอ้วนสืบต่อแทน ขงเบ้งใช้ทั้งตาแห่งวิจารณญาณและตาแห่งคนปกติทั่วไปมองเจียวอ้วนแล้วผ่านเกณฑ์ทั้งหมด ด้วยนิสัยและสติอันเยือกเย็นของเขาสามารถทำให้ก๊กพ้นภัยไปได้ด้วยดี พวกเราเองก็ควรหัดใช้ตาสองแบบนี้ดูคน จะใช้อย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้

อันที่จริงการนำทัพก็เหมือนกับการเลี้ยงแกะ ต้องมีหมาเฝ้าแกะไว้กลุ่มหนึ่งเพื่อคุมฝูง แกะตัวไหนที่ไม่สนใจก็เข้าไปงับ แต่ว่ามีแค่หมาก็ไม่พอ คุณจำต้องมีหัวหน้าแกะจ่าฝูงด้วย ให้แกะหัวหน้าเป็นตัวนำทาง หมาเฝ้าแกะก็เปรียบได้กับตัวผลักดัน โดยการตรวจสอบ ลงโทษ ให้รางวัล แกะหัวหน้าเปรียบได้กับตัวดึงดูด โดยการชี้แนะ การสาธิต และการเหนี่ยวนำ ทุกวันนี้มีคนมากมาย บริการด้วยการประเมินผล สั่งการ ลงโทษ ล้วนแต่เน้นวิธีการผลักดันทั้งนั้น ไม่สนใจวิธีการดึงดูดเลย เรียกว่าผลักดันพร่ำเพรื่อ ไร้แรงจูงใจ อย่างนี้ไม่ดีแน่  จะทำการใหญ่ต้องเป็นทั้งผลักดันและดึงดูดใจ นำไปสู่กฎข้อที่สอง นั่นก็คือ...

สอง การงานเสร็จด้วยแรงผลักดัน ฝึกฝนชี้นำด้วยแรงดึงดูด
ขงเบ้งก่อนตายได้เขียนบทความสั่งเสียไว้ให้กับขุนนางของตน บทความกล่าวถึงตนเองและครอบครัว บอกว่าที่บ้านมีต้นหม่อนอยู่ 800 กว่าต้น มีไร่นาประมาณ 15 (1 ประมาณ 6 เฮคเตอร์) นาที่ทำนี่ก็ไม่ได้ส่งส่วยที่ไหน ทำเองกินเอง ที่กินที่อยู่ได้ล้วนแต่เป็นน้ำพักน้ำแรงของตนเอง ไม่เคยทำธุรกิจ ไม่เคยตุนทอง ไม่เคยเล่นหุ้น ไม่เคยใช้เงินไปกับการอย่างอื่นนอกจากเลี้ยงชีพ สมบัติของตนเองมีชัดแจ้ง ตรวจสอบได้ เมื่อตัวเองตายไปแล้ว สมบัติให้เป็นของสาธารณะ ตนเองไม่มีเงินหรือเสบียงตุนไว้เลย ไปตรวจดูได้ 

พอมาถึงจุดนี้ เขาต้องการบอกอะไรเรา? นี่เป็นกลยุทธ์ที่เรียกว่า “เบื้องบนดี เบื้องล่างก็เอาอย่าง” ผู้นำประหยัด ลูกน้องก็ประหยัด ผู้นำมีอารมณ์ขัน ลูกน้องก็เฮฮา ผู้นำชอบเล่นกอล์ฟ ลูกน้องก็หัดหวดวงสวิงกันเป็นแถว ผู้นำเป็นยังไง ลูกน้องก็เอาอย่าง ลูกน้องของขงเบ้งก็ได้ตามอย่างขงเบ้งมาเยอะเหมือนกัน ทีมงานในมือเขาออกจะซื่อสัตย์ ลูกน้องตัวอย่างก็เช่นตั๋งโห เตงจี๋ หลวี่อี้ ( ไม่พบชื่อไทยแฮะ) คนพวกนี้ทั้งการงานความประพฤติดี แต่ล้วนยาจกทั้งนั้น เพราะมีขงเบ้งเป็นไอดอลประจำก๊ก สำนวนจีนบอกว่า 跟好人学好人 跟巫婆学跳神 คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล คบพ่อมด หมอผีพาร่ายเวทย์ คุณต้องดูว่ากำลังตามใครอยู่ 

ทีนี้มันจะมีคำถามหนึ่งที่ชวนสงสัย นั่นคืออะไรที่ทำให้ขงเบ้งเข้มงวดกับความเป็นต้นแบบของตัวเองได้ขนาดนี้ คนเราจะทำอะไรซักอย่างต้องมีแรงจูงใจ แรงจูงใจก็คือแรงผลักดันให้เราลงมือกระทำการอะไรบางอย่าง เช่นทำให้เราร้องเพลง มานั่งฟังบรรยาย มาดูรายการทีวี เป็นต้น เราอาจจะวิเคราะห์แรงจูงใจของขงเบ้งได้เป็นข้อๆ  แต่ก่อนอื่น ขอชี้แจงแรงจูงใจของคนปกติก่อน ดังนี้
หนึ่ง เพื่อทรัพย์สินเงินทอง
สอง เพื่อตำแหน่งและอำนาจ
สาม เพื่อความรู้สึกและความสัมพันธ์
สี่ เพื่อความสำเร็จและการบรรลุเป้าหมาย
ขออธิบายข้อสี่ซักหน่อย มันก็คือการกระทำงานอันลำบากท้าทายเพื่อความพอใจและความภาคภูมิใจของตน คนจะทำการใหญ่นี้ได้ก็มักจะมีแรงจูงใจข้อสี่กันทั้งนั้น ไม่เอาเงิน ไม่เอาตำแหน่ง ไม่เอาเกียรติยศ ขอแค่ทำงานได้สำเร็จ ได้ผลที่ทุกคนพอใจ ตัวเองก็ยินดีปลาบปลื้ม ข้อนี้เองที่เป็นแรงจูงใจของขงเบ้ง การบุกขึ้นเหนือแต่ละครั้งของเขาก็มาจากเหตุนี้ เขาอยากจะฟื้นฟูราชวงศ์ฮั่นขึ้นมาอีกครั้งเพื่อความภาคภูมิใจของตน ความรู้สึกเหล่านี้หล่อหลอมบุคลิกของเขาให้ออกมาเป็นอย่างที่เห็นนี่ และนิสัยของขงเบ้งนี่แหละที่เป็นต้นแบบให้คนในก๊กเอาอย่าง แล้วขงเบ้งใช้คนพวกนี้ยังไง ขอกล่าวถึงกฎข้อที่สามของขงเบ้งในการฝึกฝนทีมงานผู้รับช่วงต่อก็คือ

สาม พบเห็นเรื่องเสี่ยงภัยก็เข้าควบคุม พบเห็นเรื่องปกติจึงปล่อยมือ
ปี ค.ศ. 228 ขงเบ้งบุกขึ้นเหนือครั้งแรก ก่อนจะไปเขาก็จัดแจงตระเตรียมการงานในแนวหลังให้เรียบร้อย ด้วยการให้กุยฮิวจี๋ บิสี ตันอุ๋น แต่งตั้งเป็น 侍中 (ประมาณผู้จัดการวัง วิกิว่าเป็น Palace Attendant) จัดการเรื่องในวัง ตั้งเฮียงทงเป็นแม่ทัพใหญ่ จัดการด้านการทหาร แล้วตั้งเจียวอ้วนเป็นเจ้าหน้าที่การทหาร เอียวหงีเป็นเลขาธิการ คอยจัดการการปกครอง ให้ลิเงียมจัดการการทหารและการเมืองด้านตะวันออก พอมอบหมายเสร็จแล้วตนก็นำทัพบุกไป เรื่องแนวหลังเขาปล่อยให้คนที่ไว้ใจได้จัดการควบคุมดูแล แต่เรื่องแนวหน้าที่มีความเสี่ยงสูงเขาจะจัดการเอง 

ในตอนนั้น   อุยเอี๋ยนที่ตอนนี้วัยกลางคนแล้ว ตำแหน่งก็ไม่เล็กไม่ใหญ่ ได้เสนอแผนออกรบว่าขอกำลังพลแค่ห้าพัน แอบดอดไปตีเตียงอันอีกทางหนึ่ง ทหารวุยก๊กจะไม่ทันตั้งตัวแน่ๆ จากนั้นค่อยไปตีเมืองเซียงหยางด้วยกัน หากประเมินแผนนี้ด้วยสายตาคนปัจจุบัน ก็จะเข้ากับหลักการธุรกิจที่ว่า High risk, High return เสี่ยงสูง ผลตอบแทนก็สูง ความเสี่ยงของแผนอุยเอี๋ยนอยู่ในระดับที่พอรับได้ อุยเอี๋ยนไป ถ้าตายก็เป็นความผิดของตัวเขาเอง แต่ถ้าสำเร็จ ผลประโยชน์ก็จะอยู่กับขงเบ้ง แต่ขงเบ้งบอกว่าทุกสิ่งทุกอย่างในตอนนี้ข้าจะคุมเอง เจ้าไม่ต้องสอด เสี่ยงมากเสี่ยงน้อย ถึงยังไงมันก็เสี่ยงอยู่ดี ขอช้าแต่ชัวร์จะดีกว่า เจ้ากลับไปเฝ้าค่ายต่อเถอะ

นับแต่นั้นมา อุยเอี๋ยนก็ฮึดฮัด ไม่สุขใจ ใจของอุยเอี๋ยนอาจพูดได้ว่าเหมือนเอาต่อตามต่อยที่กลางใจ 麻花 (โดนัทแบบเกลียว)ในกระทะที่บิดไม่หยุด คับข้องใจมาก เรียกขงเบ้งว่าไอ้ขี้ขลาดอยู่เรื่อยๆ มองไม่เห็นความสามารถของตนเอง จากตรงนี้เราจะมองเห็นว่าอุยเอี๋ยนไม่ใช่เด็กดีนัก เป็นเด็กซน เด็กดื้อ มีข้อเด่นสามแบบคือ 1. ไม่ 服从 ยอมรับในอำนาจ เห็นตนเองเป็นใหญ่ 2. โผงผาง คิดไงก็พูดงั้น 3.ไม่ฟังใคร เชื่อมั่นในหนทางของตนเอง ขงเบ้งไม่ชอบคนแบบนี้เท่าไหร่นัก ถ้าจะใช้ก็ใช้รวมกับคนอื่น ไม่ปล่อยเอกเทศหรอก ถ้าเลือกระหว่างม้าเจ๊กกับอุยเอี๋ยน ขงเบ้งเลือกม้าเจ๊กดีกว่า

 麻花 บิดแล้วบิดอีก

ขงเบ้งชอบเด็กที่คอนโทรลได้ ไม่ชอบเด็กซน ทว่ากระผมเห็นว่าเด็กดีคุมง่ายก็จริง แต่เด็กดื้อแบบอุยเอี๋ยนพัฒนาได้ง่ายกว่า เร็วกว่า เด็กดีเด็กดื้อต่างก็มีประโยชน์ข้อดีต่างกัน บางอย่างเด็กดื้อทำได้ยิ่งใหญ่กว่าเด็กดีด้วยซ้ำ ฉะนั้นการบริหารจัดหารคน จำเป็นต้องมีความหลากหลายทางบุคลิก บนฟ้ามีนกอินทรีเหินร่อน แต่ก็มีแมลงวันบินอยู่ บนดินก็มีเสือสิงห์วิ่งอย่างสง่า แต่ก็มีหนูคลานอยู่ได้ ธรรมชาติต้องการสิ่งเหล่านี้จึงจะสงบได้ การปกครองก็เหมือนกัน เราจำเป็นต้องมีคนหลายแบบหลากนิสัยไว้เลือกใช้สอย กลยุทธ์การจัดการมีบทที่เรียกว่า “กลกระดาษขาว” คือทุกคนก็เหมือนกระดาษขาวแผ่นหนึ่ง แต่ละคนมีจุดเด่นจุดด้อยต่างกัน ก็เหมือนกระดาษที่มีรอยด่างรูรั่วต่างที่กัน รูพวกนี้ซ่อมแซมได้ยากหรือไม่ได้เลย ก็เหมือนกับบุคลิกและนิสัยเรา ก็ต้องหากระดาษแผ่นใหม่ แน่นอนว่ากระดาษแผ่นใหม่ก็มีตำหนิเหมือนกัน แต่เมื่อสองแผ่นเอามารวมกัน รูที่โหว่และรอยตำหนิก็ได้รับการเสริมเติม ปิดบังกันและกันได้เหมาะ หากกระดาษสองแผ่นดันมีบางจุดที่โหว่เหมือนกัน ก็หาแผ่นที่สามสี่ห้าต่อไป นี่เรียกว่าซ่อมเสริมกันและกัน 

กินข้าวอย่ากินแต่ของอร่อย ใช้คนก็อย่าเอาแต่คนที่เข้าตา เดินทางก็อย่าเลือกแต่ทางทางสะดวก พูดจาก็ไม่อาจพูดตามใจ สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องฝืนใจบ้างเพื่อความสำเร็จในอนาคต ต้องมีส่วนเสริมจากด้านที่ไม่ชอบบ้าง ขงเบ้งมักไม่ชอบใช้คนที่ตนเองไม่ชอบหน้า หนึ่งในสิ่งสำคัญของการบริหารก็คือการใช้คน งานใหญ่จะสำเร็จได้ด้วยคนหลากหลายแบบ ไม่ใช่คนประเภทเดียว ธุระหนึ่งคุณทำได้สำเร็จคือเรื่องปกติ ทำธุระสิบเรื่องเสร็จในทีเดียวเรียกว่าดี ห้าสิบเรื่องเสร็จในทีเดียวเรียกว่าเยี่ยมยอด หากอยากทำงานร้อยอย่างในทีเดียวเรียกว่ารนหาที่ตาย ต่อให้คุณมีความสามารถถึงขั้นนั้น แต่ร่างกายคุณรับไหวหรือ คุณมีลูกน้องแต่ไม่ใช้ แล้วลูกน้องคุณจะพัฒนาได้ยังไง งานจะเสร็จได้ต้องใช้แรงจากทุกคน แม้ว่าจะเป็นคนที่คุณไม่ชอบหน้าก็ตามที

คนรุ่นหลังวิจารณ์ขงเบ้งว่าเขาจับงานแบบจดจ้องกับรายละเอียดมากเกินไป งานเล็กงานใหญ่รับเองหมด เหนื่อยตายอยู่ที่ช้าหรือเร็วเท่านั้น แต่ก็มีคนอีกกลุ่มบอกว่าอย่างนี้ไม่ถูกหรอก ขงเบ้งเขาใส่ใจทุกรายละเอียดตะหาก รับทุกงานน่ะไม่ผิด ที่ผิดคือเขาทำงานทุกอย่างแบบละเมียดละไมเกินไปตะหาก แถมยังไม่ดูแลรักษาสุขภาพด้วย ตอนนี้เราจะมาถกกัน ว่าด้วยเรื่องความละเอียดในการงานของขงเบ้ง ผมจะพูดถึงภาพลักษณ์พื้นฐานให้ฟังซักประโยคหนึ่ง นั่นคือผู้นำควรใส่ใจในสิ่งที่ผิดปกติ มิใช่สิ่งธรรมดา ควรใส่ใจในข้อยกเว้น กับกิจการปกติไม่ต้องสนมากก็ได้ งานทั่วไปควรให้ลูกน้องจัดการดูแลไป กิจการปกติให้หน่วยงานลงมือแทน ผู้นำสนแต่กรณผิดปกติหรือกรณียกเว้นพิเศษเท่านั้นก็พอ หากคุณลงมือทำเองหมดแล้วลูกน้องทำอะไร งานทุกอย่างมีรายละเอียดปลีกย่อยยุ่บยั่บ ทำเองหมดก็เหนื่อยตายกันพอดี

อีกข้อคิดหนึ่งที่ควรพูดถึงก็คือ การเลือกเฟ้นสำคัญกว่าความขยัน คนเราจะประสบความสำเร็จได้ ก็เพราะเลือกถูกแล้วจึงค่อยขยันทำต่อไป หากเลือกผิดเข้าแล้ว ยิ่งขยันเท่าไหร่ก็ยิ่งห่างไกลความสำเร็จเท่านั้น ความล้มเหลวของขงเบ้งคือเขาไม่เลือกทำสิ่งที่ควรก่อน แกเล่นเลือกทุกอย่างเลย แถมทำมันอย่างละเอียดเท่ากันด้วย ก็เหมือนกับเอากล้องจุลทรรศน์ไล่ส่องมันทุกงาน เอาแต่ใช้กล้องแบบนี้มันก็มองไม่เห็นช้างกันพอดี แม้ว่ามันจะมาอยู่ตรงหน้าก็ตามที คุณจะเห็นแต่เซลล์ที่มีสภาพเหมือนพื้นดินเท่านั้น ฉะนั้นคุณต้องมีความสามารถและเลือกเป็น จึงค่อยใส่ใจ จับงานเป็น ปล่อยงานได้ ขงเบ้งด้อยที่ตรงนี้ ใครบางคนอาจบอกว่า อ้าว งี้ขงเบ้งก็กากงานบริหารอ่ะดิ ที่จริงไม่ใช่ แท้จริงแล้วมนุษย์สามารถก้าวข้ามขีดจำกัดความสามารถของตนได้ แต่ไม่อาจฝืนนิสัยและสันดานของตนได้เลย ขงเบ้งจับงานแบบนี้เพราะเกี่ยวข้องโดยตรงกับนิสัยของเขา หลักจิตวิทยากล่าวว่าวัยเด็กเป็นพ่อของชีวิต สิ่งแวดล้อมนั้นเปรียบกับแม่ของชีวิต นิสัยของแต่ละคนจะถูกรังสรรค์ขึ้นในตอนเด็กๆนี่เอง โดยมีสิ่งแวดล้อมเป็นภาพสะท้อน แม่ของเมิ่งจื่อต้องย้ายบ้านสามหนเพราะแบบนี้ คนจีนบอกว่าสามขวบเด็กนัก เจ็ดขวบก็แก่แล้ว 
 
ขอบอกกับพ่อแม่ที่มีเด็กอยู่ด้วยกันในบ้านว่าหากอยากให้เขามีความสุข ความใจกว้าง โชคดี พุดคุยกันได้ ก็ต้องอย่าเอาแต่ดุว่า สมัยสามก๊กที่ไม่มีใครเชื่อใครเลยก็เพราะว่าสังคมในสมัยเด็กของพวกเขาหล่อหลอมมาแบบนั้น พ่อแม่ของขงเบ้งตายตั้งแต่ขงเบ้งยังเด็ก ตอนลุงตาย พี่ชายคนโตก็ออกไปทำงาน ตัวเองมีน้องออกลุยชีวิตที่ลำบากลำบน สิ่งหนึ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตของขงเบ้งคือความมั่นคง ไปไหนก็ไม่ปลอดภัย นอกจากนี้ความต้องการยึดครองของขงเบ้งค่อนข้างสูง ไม่ว่าอะไรก็ตาม ขอให้ตัวเองได้ยึดกุมเป็นวางใจได้ เขาไม่เคยไว้ใจใคร เหตุผลที่เขาบุกขึ้นกิสานหกรอบ ส่วหนึ่งก็เพราะว่าเขาต้องการความมั่นคงทางใจด้วย พอได้ทำแล้วใจก็สงบ พอไม่ทำก็ไม่สบายใจ 

อย่างที่บอกไว้ สันดานนิสัยยากเปลี่ยนแปร หากเราเปลี่ยนไม่ได้แล้วทำไงดี ก็ต้องหาคนที่นิสัยต่างกันมาช่วยเสริม แต่เพราะขงเบ้งไม่ไว้ใจใคร การจะหาใครมาเสริมเติมนั้นทำได้ยาก นี่เป็นช่วงโหว่ขนาดใหญ่ของขงเบ้งเลยทีเดียว ชีวิตของเขาอาจกล่าวได้ว่าเป็นเพราะอุดมคติ ความเชื่อมั่น การตีค่า นิสัยขาดความมั่นคง รวมกับแรงจูงใจเพื่อความสำเร็จ ส่งผลต่อชีวิตขงเบ้งทั้งชีวิต แม้ประชาชนในยุคนั้นล่วงมาถึงยุคนี้ บางคนบอกว่าเขาเป็นเทพเจ้า ผู้หยั่งรู้ แต่ในความเป็นจริงนั้นบอกว่าเขาก็แค่ปุถุชนคนทั่วไป มีสำเร็จ ล้มเหลว แต่ในชีวิตที่ 起伏跌宕 (มีขึ้นมีลง) ของเขานั้นไม่เคยก้มหัวให้กับความลำบาก ได้แต่สู้ไปตามความรู้ความสามารถของตนที่มีอยู่ ตรงนี้แหละที่ทำให้ขงเบ้งควรเคารพนบนอบ 

ทั้งหมดทั้งตอนที่พูดถึงขงเบ้งนี้ เราไม่ได้พูดถึงแค่คนๆหนึ่ง แต่เรากำลังพูดถึงจิตวิญญาณ พูดถึงแนวทางการใช้ชีวิต หรือกระทั่งพูดถึงความเชื่อมั่นรูปแบบหนึ่งของบุคคล เราอาจพูดได้ว่า วีรบุรุษไม่อาจบรรลุตามอุดมคติของตนได้ทุกครั้ง แต่ทุกครั้งเขาสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้คนหาอุดมคติของตัวเองได้เสมอ ชีวิตของขงเบ้งก็เป็นแบบนี้ เราไม่อาจจะมองไปที่ความรู้ของเขาอย่างเดียว เราต้องมองอย่างอื่นที่เด่นๆของเขาด้วย เช่นความภักดี ซื่อสัตย์ ไม่เห็นแก่ตน ทุ่มเทกับการงาน สิ่งเหล่านี้เมื่อรวมกับความรู้ทำให้เป็นคนน่าเคารพขึ้นมาได้ เป็นแนวทางและแรงบันดาลใจ ข้อคิดให้กับชีวิต จิตวิญญาณของเรา เรื่องราวของเขาควรค่าแก่การบอกต่อให้กับคนรุ่นหลังต่อไป 

ชีวิตของขงเบ้งที่เล่ามาทั้งหมดทั้งมวลแปดตอนนี้ก็ได้จบลงอย่างสมบูรณ์แล้ว ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามชมอย่างไม่ขาดสาย กระผม อาจารย์เจ้าหยวี่ผิงขอลาไปก่อน สวัสดีครับ

Note:  1. ช่วงนี้ขอพักก่อน เรื่องที่จะลงต่อมีเล็งไว้แล้วสองสามเรื่อง อาจไม่ใช่แนวสามก๊กอีกซักระยะ หรือถ้าใครมีเรื่องดีๆก็เสนอได้เลย จะลองดูก่อนครับ
2. ผมทำเพจในเฟซบุค ชื่อว่า Great King Ramkhamhaeng ใครที่ชอบประวัติศาสตร์และเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของชนชาติต่างๆในเกม Civilization V ก็เชิญมากดไลค์ ร่วมพูดคุยกันได้ เพจนี้จะไม่พูดถึงวิธีเล่น แต่จะเน้นความรู้ตามจริงมากกว่า
3. ใครมีเว็บรวบรวมตำแหน่งขุนนางจีน พร้อมคำแปลอย่างละเอียด ช่วยแนะนำทีครับ จักขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง



3 ความคิดเห็น:

  1. ขอบพระคุณมากครับ เป็นบทความที่ยอดเยี่ยมมาก ได้ความรู้ ข้อคิดเตือนใจ คำคมทุกวรรคตอน แล้วจะรอติดตามเรื่องต่อ ๆ ไปนะครับ (แอบเสียดายที่จะไม่ใช่เรื่องสามก๊ก)

    ตอบลบ
  2. ขอบพระคุณ สำหรับบทความดีๆ และ ข้อคิดดีๆครับ

    ตอบลบ
  3. ขอบคุณสำหรับความรู้มากเลยค่า >< เห็นหลังซีรีย์สามก๊กในจีนจบ ก็ฉายสงครามฉู่ฮั่นต่อ
    แอบอยากให้ท่านเจ้าของบล็อคเอา เกร็ดความรู้ช่วงสงครามฉู่ฮั่นมาลงบ้างนะคะ

    ขอบคุณมากค่ะ ^^

    ตอบลบ