วันพุธที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2556

รู้อย่างขงเบ้ง (6) : สูตรลับแห่งความมั่นคงในราชอาณาจักร

       ในชีวิตจริงของคนเรา เวลาทำงานต่างๆ เราคงไม่อยากเจอสถานการณ์ที่คนในแผนกทุกคนต้องมานั่งกังวลใจ ทว่าในยามที่คนในหน่วยงานเราต้องพบกับการเปลี่ยนถ่ายอำนาจ ในระหว่างช่วงนี้ หลายคนอดที่จะไม่กังวลใจมิได้ เพราะมักมีข่าวลือแปลกๆเสมอ ในยามที่ขงเบ้งรับมอบอำนาจจากเล่าปี่ มาจับงานของผู้นำอย่างเต็มตัว ก็ต้องพบกับความไม่มั่นใจของคนในก๊กอย่างไม่อาจเลี่ยงได้ ขงเบ้งใช้วิธีใดสยบใจคน พาทีมให้รอดกันหรือ คนยุคนี้ควรเรียนรู้ เลียนแบบอะไรจากเขาได้บ้าง อาจารย์เจ้าเก่า 赵于平 เล่าในสไตล์  麻辣说三国 เหมือนเดิม ในหัวข้อ “ตำรับลับกล่อมใจคน”


       ฤดูใบไม้ร่วง เดือนสิงหา ปี ค.ศ.223 ฮ่องเต้วัยละอ่อนเล่าเสี้ยนเพิ่งจะครองบัลลังก์ นั่งได้ไม่นานเท่าไหร่ก็ต้องมีเหตุให้นั่งไม่ติดที่ เนื่องด้วยว่าภัยใหญ่กำลังคุกคามจ๊กก๊ก วุยก๊กจะทำสงครามห้าทัพ ยกมาในทิศทางต่างๆรอบก๊กเลย ประกอบไปด้วยทัพโจจิ๋น ยกมาสิบหมื่น เข้าทางด่านเองเป๋งก๋วน ทัพที่สองคือทัพเบ้งตัด ยกจากส้างหยง จำนวนสิบหมื่น เข้ามาตีทางฮันต๋ง ทัพที่สามจากซุนกวน ยกมาทางแฮเค้า จำนวนสิบหมื่น ทัพที่สี่ กษัตริย์เกี่ยงนามคอปี่ ยกมาสิบหมื่นเข้าทางเซเปงก๋วน ทัพสุดท้าย ทัพเบ้งเฮ็ก ยกเข้ามาตีเอ๊กจิ๋วสี่เมือง

 แผนที่เดินทัพของวุยก๊กตามนิยายโดยสังเขป

       ห้าทัพนี้รวมกำลังได้ห้าสิบหมื่น หมายจะยกมาเผด็จศึกในทีเดียว จ๊กก๊กต้องพบกับศึกครั้งใหญ่ที่สุดนับแต่การสร้างก๊กมา แถมขนาดและขุมกำลังก๊กในตอนนั้นก็หดลงไปเยอะเลยทีเดียว ห้าทหารเสือตายไปแล้วสาม แถมหลังศึกอิเหลงมา ทหารยังไม่ฟื้นตัวดีเลย เล่าเสี้ยนได้แต่เอามือก่ายหน้าผาก แถมในก๊กยังเกิดปัญหาใหญ่ขึ้นอีกอย่าง ท่านสมุหนายกจูกัดเหลียงก็ดันไม่เข้ามาทำงานอีก นอนเปื่อยอยู่บ้าน ประตูปิดมิดชิด คนก็สงสัยว่าทำไมขงเบ้งหยุดงานไปดื้อๆ คนรุ่นหลังก้ว่าขงเบ้งไม่พอใจอะไรหรือเปล่า เขากลายเป็นคนไม่ซื่อสัตย์ สองจิตสองใจไปแล้วหรือ

       เล่าเสี้ยน ฮ่องเต้ป้ายแดงเห็นว่าไม่ได้การ จะต้องไปดูด้วยตาของตนเองให้แน่ชัด พอมาถึงหน้าประตู ก็ถามยามหน้าบ้านว่าท่านนายกไปไหนหรือ ยามได้แต่ส่ายหน้า ตอบว่าผมก็ไม่รู้ จะสังเกตได้ว่าขงเบ้งชอบเล่นกลยุทธ์นี้กับครอบครัวตัว “เล่า” มาก คือเวลาสำคัญมักไม่ค่อยอยู่ให้เจอหน้า คนพ่อโดนไปสมัยสามเยือนกระท่อมหญ้า คนลูกก็กำลังจะเจอแบบเดียวกัน เล่าเสี้ยนก็ลงจากรถ เดินเข้าประตูบ้าน ก็ไปเห็นขงเบ้งกำลังเปลี่ยนเสื้อ ในมือถือเบ็ด ออกไปนั่งที่ริมสระ ที่เต็มไปด้วยปลาทอง ลองคิดสิว่าในใจของเล่าเสี้ยนตอนนั้นจะคิดยังไง

       ความรู้สึกของเล่าเสี้ยนคงประมาณว่าข้าร้อนรนจะเป็นจะตาย แต่ท่านกลับมานั่งดูปลาหน้าตาเฉย ไม่เห็นหัวข้าเลยหรือ นิยายซานกว๋อเหยี่ยนอี้เขียนไว้ว่าเล่าเสี้ยนยืนจ้องอยู่ด้านหลังขงเบ้งนานพอดู จึงค่อยเปิดปากพูดอย่างช้าๆ การกระทำสองอย่างของเล่าเสี้ยนนี้แสดงให้เห็นถึงใจของเล่าเสี้ยนที่ตอนนี้ทั้งแปลกใจระคนกับโมโห ผสมกับความสิ้นหวังหน่อยๆ เขาพูดอย่างช้าๆว่า “ท่านสมุหนายก สบายใจจังนะ?” ขงเบ้งจึงค่อยๆหันหน้ากลับมาประจันกับฮ่องเต้องค์ใหม่นี่ ปล่อยให้เล่าเสี้ยนบ่นว่าไปสักพัก จึงค่อยหัวเราะออกมาดังๆ แล้วอธิบายว่ากระหม่อมไม่ได้นั่งดูเปล่าๆนะ แต่กำลังนั่งคิดแผนตะหาก

       จากนั้นขงเบ้งจึงอธิบายแผนของตัวเองให้ฟัง แต่ก่อนจะเล่าแผน เรามาดูกันก่อนว่าทำไมขงเบ้งจึงไม่ไปเข้าวังทำงาน กลับมานั่งดูปลาอย่างชิลๆ เขามีเหตุผลทางจิตวิทยารองรับอยู่เบื้องหลัง ซานกว๋อเหยี่ยนอี้ขนานนามตอนนี้ไว้ว่า “安居平五路 นั่งอยู่บ้านสยบห้าทัพ ห้าทัพนี่ก็แค่ 虚张声势 ของหลอกเด็ก สงบได้ง่ายดาย แต่ปัญหาที่ควรจัดการก่อนอันดับแรกไม่ใช่การจัดทัพ แต่เป็นการสงบใจคน หากขงเบ้งเข้าๆออกๆวังหลวง จะพาทุกคนสับสนอลหม่านเอา

       ขงเบ้งที่นั่งฟังเพลง ดูปลาอยู่บ้าน เพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้นำอย่างเราน่ะไม่เดือดร้อนนะ ลองนึกภาพตามดู หากเราเห็นภาพของผู้นำที่ไม่ร้องไห้ออกสื่อ เอาแต่ยิ้มอย่างมั่นใจ คนรอบข้างจะคิดว่าเขาไม่รีบร้อนหรือหวาดกลัวอะไร คงเรื่องจิ๊บๆแหละม้าง ทำไมเราจะต้องไปเดือดร้อนตามเขาล่ะ เสริมความมั่นใจให้คนรอบข้าง พอฝ่ายตรงข้ามเห็นก็จะไม่รู้ตื้นลึกหนาบาง ก็จะไม่รีบร้อนลงมือ ประวิงเวลาได้อีกหน่อย ฝ่ายเราไม่ตระหนก ฝ่ายตรงข้ามไม่รีบร้อน ภาพรวมของศถานการณ์จึงสงบขึ้นมาได้บ้าง จึงขอกล่าวว่าในยามสำคัญ ผู้นำต้องทำให้ลูกน้องมีใจสงบนิ่ง จึงจะคุมสถานการณ์ได้อยู่มือ ไม่อาจให้ร้อนรนอลหม่านได้ 

อยู่บ้านสยบห้าทัพ อีกเรื่องหนึ่งที่มีเพียงในนิยาย
       การสงบใจของผู้นำ ถือเป็นก้าวแรกของการจัดการปัญหาทั้งมวล ขั้นตอนต่อไปคือมีวิธีการแก้ปัญหารองรับ ขงเบ้งแจกแจงวิธีการรับเส้นทางทัพสายต่างๆไว้ว่า ให้ม้าเฉียวไปยันทัพที่เซเป๋งก๋วน จัดทัพไปใหญ่หน่อย ด้วยฝีมือม้าเฉียว ต้องชนะกลับมาแน่ ต่อมาก็ให้อุยเอี๋ยนไปรับมือเบ้งเฮ็ก อันนี้ทัพน้อยหน่อยก็ได้ ให้จัดทัพเดินเข้าเดินออก ติดธงประดับประดาเยอะหน่อย เบ้งเฮ็กก็กลัวแล้ว แล้วต่อไปก็สั่งการให้จูล่งไปกันด่านเองเปงก๋วน ด่านนี้รับง่ายบุกยาก ฝีมือของจูล่งเอาอยู่แน่ๆ ด้านทัพเบ้งตัดนี่เล่นง่ายหน่อย เห็นว่าเป็นเพื่อนสนิทกับลิเงียมนิ ให้ใครปลอมลายมือลิเงียมเขียนจดหมายส่งไปต่อว่าหน่อยเป็นใช้ได้ ส่วนทัพซุนกวนไม่ต้องทำอะไรมัน พอเห็นทัพอื่นไม่บุกเดี๋ยวมันก็กลับไปเอง เพื่อกันความผิดพลาด ขงเบ้งจะจัดทัพเสริมไปสามหมื่น โดยมีกวนหินเตียวเปาเป็นตัวหลัก รอสนับสนุนด้านที่เสียหาย แค่นี่ก็เรียบร้อย

     เล่าเสี้ยนฟังจบ จากหน้าบึ้งเป็นรอยยิ้มทันที ภูเขาอันแน่นอก มีเทวดามายกออกไปได้ ก็สงบลง หัวเราะออก ร้องเพลงได้ ก่อนหน้านี้จะมาเอาโทษอยู่แท้ๆ ตอนนี้มานั่งจิบเหล้าแล้วก็กลับวังไป

       ทีนี้จะมาแจกแจงวิธีสงบใจคนสี่อย่างของขงเบ้งกัน

  • ข้อแรก สงบใจทีมงาน ให้ยังเข้าประจำที่
       จะคุมวงกลม ก็ต้องอาศัยการคุมจุดศูนย์กลางให้อยู่ ถ้าจุดศูนย์กลางไม่แน่ชัด ยังไงก็เป็นวงกลมไม่ได้ อย่างดีก็ได้แค่วงรี จะสงบใจทีมงาน ต้องคุมใจหัวหน้ากลุ่มให้อยู่ให้ได้ก่อน ถามว่าอะไรคือ “เข้าประจำที่” ก็คือจัดสรรให้ทีมงานแต่ละคนทำหน้าที่ของตัวเองอย่างรวดเร็ว นี่จึงสามารถหลีกเลี่ยงความวุ่นวาย ความขัดแย้งได้ ขอให้ทุกคนลองดูว่าแต่ไหนแต่ไรมา การเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนถ่ายอำนาจทางการเมืองการปกครอง สิ่งหนึ่งที่มักเป็นปัญหาโดยตลอดก็คือการแก่งแย่งตำแหน่งหน้าที่ ลองนึกถึงการนั่งรถไฟ (ในจีน) ดูสิ พอเดินเข้าตู้รถไฟได้ พนักงานก็จะประกาศว่าขอทุกท่านโปรดหาที่นั่งให้ตนเองอย่างรวดเร็วด้วย ถามว่าทำไมต้องรวดเร็ว เพราะพอนั่งได้ก็สบายใจ มีที่นั่งก็ไม่วุ่นวาย เกิดความเป็นระเบียบ

       เช่นเดียวกับทีมงาน คุณต้องจัดสรรตำแหน่งให้เขาเข้าทำโดยเร็ว ก็เหมือนกับตอนเล่นเก้าอี้ดนตรี หากเก้าอี้ไม่มีการปิดป้ายชื่อไว้ ทุกคนก็จะคว้าเก้าอี้กันอย่างอลหม่าน แต่ถ้าติดป้าย ทุกคนก็จะนั่งได้สบายใจ ไม่ชุลมุน (แล้วมันจะสนุกตรงไหนเนี่ย?) ขงเบ้งรีบระบุตำแหน่งให้คนเข้าไปนั่ง ความวุ่นวายจะได้ไม่เกิด แต่ก่อนที่จะจัดสรรตำแหน่ง จัดหาตัวคน ขงเบ้งลงมือทำสิ่งหนึ่ง ซึ่งจำเป็นต่อการจัดระเบียบจิตใจ แถมถูกละเลยได้ง่ายมาก นั่นก็คือการทำให้สาธารณชนเกิดความมั่นใจ ด้วยการเอาพินัยกรรมของเล่าปี่มาเปิดเผย ลงหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่งตัวโตๆ

       ถามว่าทำแบบนี้ไปทำไม เราทุกคนคงเคยประสบมาบ้าง เมื่อเกิดเหตุการณ์ใหญ่ๆในประเทศ สิ่งหนึ่งที่มหาชนต้องการมากที่สุดคือความเชื่อมั่น ทุกคนอยากทำความเข้าใจกับภาพรวม ต้องการความจริง การสงบใจสาธารณชนถือเป็นข้อสำคัญ ในขณะที่คนกำลังแก้ไขปัญหาสำคัญ ส่วนมากมักจะละเลยการกระทำข้อนี้ คือไม่สนใจให้ความเชื่อมั่นแก่คนทั่วไป ไม่สนใจประกาศข้อมูลล่วงหน้า ให้มหาชนได้แลกเปลี่ยนข้อมูล ผู้นำหลายคนมักคิดว่ายังไม่ได้เริ่มเป็นรูปธรรมเลย ไว้ลงมือเสร็จแล้วค่อยประกาศว่ามันดียังไง เจ๋งแค่ไหน ผลที่ได้มักออกมาแย่กว่าที่คิด 

       คนเรามักมีความต้องการด้านข้อมูล หากคนแก้ไม่พูด ก็จะมีคนอื่นมาพูดให้ บนที่ดินแห่งข้อมูลข่าวสารของเรา หากเราไม่ปลูกผัก ก็จะมีคนอื่นมาปลูกพืชอื่นแทน ซึ่งมักจะเป็นวัชพืช พืชมีพิษ ข่าวลือจะแพร่สะพัดไปตามที่ต่างๆ ในกลุ่มชนบ้าง บนเน็ตบ้าง มหาชนถูกขับเคลื่อนด้วยข่าวลือ หมดความเชื่อมั่น จากเรื่องดีจะกลายเป็นเรื่องร้าย สถาณการณ์แย่ลงไปอีก ฉะนั้น การจะสงบใจประชาชน ต้องให้คนมีความเชื่อมั่นก่อนเลย

       ขงเบ้งประกาศเนื้อหาของพินัยกรรมที่เล่าปี่เขียนไว้ก่อนตาย ในบันทึกซานกว๋อจื้อได้บอกว่าแบ่งออกเป็นสามส่วน ส่วนแรกระบุอาการป่วย เขียนไว้ว่าข้าปวดท้อง ท้องเสีย อาการหนักมาก หมดทางเยียวยา ได้ยินว่าคนอยู่ได้ถึง 50 ปี นี่ก็ยาวพอดู อยู่มาจะหกสิบกว่าแล้ว ถือว่าไม่เสียที เรามาดูคีย์สำคัญในพินัยกรรมฮ่องเต้กัน คือมักจะเขียนว่าฮ่องเต้ตายยังไง ตายลักษณะไหน ปัญหานี้จะว่าเล็กก็เล็ก ว่าใหญ่ก็ใหญ่ นอกจากนี้พินัยกรรมยังแฝงไว้ด้วยนัยยะอันอึมครึมทางการเมืองการปกครอง อาจจะเกี่ยวข้องกัน สืบค้นได้ แต่งเสริมได้ ป้ายสีได้ หากมีคนนำสาเหตุการตายของฮ่องเต้มาเขียนเป็นบทความได้ บทความนั้นจะต้องยิ่งใหญ่แน่ๆ คนที่เขียนได้ต้องไม่ธรรมดา และมีคนหลายคนรอบทความแบบนี้อยู่ในสังคมอย่างมากมาย

       พินัยกรรมนี้เปิดตัวด้วยสาเหตุการตาย และยังมีพื้นที่ให้เจ้าตัวได้ออกความคิดเห็น ทุกคนย่อมเชื่อถือ การระบุสาเหตุชัดเจน และบ่งบอกว่าไม่เสียใจอย่างชัดแจ้ง นี่ทำให้คนคลายใจไปเยอะ พูดถึงจุดนี้ต้องขอนับถือเล่าปี่เขา เริ่มมาไม่พูดถึงการปกครอง เศรษฐกิจ การรบรุก ไม่พร่ำบ่นอุดมการณ์ เรื่องราวสังคม ประชาไพร่ฟ้า เพียงพูดถึงสาเหตุการตายและอารมณ์ส่วนตัว เอาความจริงและความในใจมาพูดชัดเจน พินัยกรรมนี้ทำให้คนที่สงสัยในการตายได้คลายปมปัญหา ทั้งยังให้พวกสร้างข่าวลือหมดข้ออ้างกุเรื่องไปด้วย

       ส่วนที่สองของพินัยกรรม กล่าวสนับสนุนกับลูกหลานที่เหลืออยู่ไม่กี่คน บอกในทำนองว่าลูกเอ๋ย จะเริ่มงานใหญ่ต้องทำจากงานเล็กๆก่อน การทำเลวก็เหมือนเลี้ยงม้า ไม่ว่าเรื่องเลวจะเล็กจะใหญ่ เพียงแค่คิดก็เหมือนปลดบังเหียนจากม้าป่า จะไล่จับทีหลังก็จับไม่อยู่ หยุดก็หยุดไม่ได้ การทำดีก็เหมือนปลูกพืช ขอแค่คิดก็เหมือนเริ่มเพาะหน่ออ่อน อย่าดูถูกว่ามันต้นเล็ก ผ่านไปไม่นานเดี๋ยวมันก็จะเติบใหญ่ ผลิดอกออกผลให้เราได้ใช้ประโยชน์เอง ถามว่าทำไมเล่าปี่สอนลูกด้วยเรื่องพวกนี้ เพราะลูกเขาเพิ่งจะวัยรุ่น ไม่ทันไรก็ได้เป็นฮ่องเต้ ตำแหน่งใหญ่โต มีสมบัติพัสถาน เดี๋ยวจะกลายเป็นคนมือเติบ เล็กๆไม่ ใหญ่ๆทำ เล่าปี่บอกให้คนรุ่นที่สองของตัวเองต้องคุมใจตัวเองเป็น เรืองชั่วแมเล็กน้อยก็ไม่เอา เรื่องดีแม้เล็กน้อยก็ไม่มองข้าม

       มาถึงส่วนที่สาม ส่วนนี้เกี่ยวข้องกับขงเบ้งเต็มๆ เล่าปี่บอกว่าขอให้ลูกเห็นท่านสมุหนายกเหมือนพ่อแท้ๆของตัวเอง จงเชื่อมั่นและเคารพในตัวเขา ส่วนนี้เชิดชูศักดิ์ศรีของขงเบ้งมากมาย ขงเบ้งใช้พินัยกรรมนี้ปลอบประโลมประชาชนและขุนนางที่ร่วมงาน เรียกความเชื่อมั่นคืนมา นอกจากนี้ขงเบ้งได้ดำเนินกลยุทธ์อีกหลายชุด เริ่มตั้งแต่ปรับกำลังใจให้เล่าเสี้ยน จัดงานเคารพศพเล่าปี่อย่างใหญ่โต แต่งตั้งบิฮูหยิน กำฮูหยินย้อนหลังให้เป็นฮองเฮา แล้วก็เลื่อนตำแหน่งตนให้เป็นหวู่เซียงโหว ปกครองเอ๊กจิ๋ว เรียกได้ว่าเขาจัดระเบียบจิตใจครบเรื่องทั้งชายหญิง นายบ่าว คนที่ตายแล้วและมีชีวิตอยู่  สิ่งที่ขงเบ้งทำทั้งหมดนี้เรียกว่า 名正则言顺 位定则心安 ความกระจ่างชวนให้สงบวาจา ตำแหน่งตรงพาให้ใจสงบ

  • สอง สงบไม่ออกตัว เสริมแกร่งให้อำนาจ
       มีคนถกเถียงกันมาตลอดว่าขณะที่ห้าทัพกำลังจะเดินเข้าจ๊กก๊ก ทำไมขงเบ้งไม่ไปแจกแจงวิธีช่วยเหลือในสภาหรือวังหลวงเลย กลับนั่งมองปลาเล่นในบ้าน รอให้ฮ่องเต้ไปหาด้วยตนเอง ทั้งๆที่เขาจะเดินไปบอกแผนแต่เนิ่นๆก็ได้ ปล่อยให้กังวลกันทำไม ก่อนจะถกข้อนี้ เรามาพุดถึงรายละเอียดสองอย่างก่อน อย่างแรกคือตอนฮ่องเต้ไปหาขงเบ้งที่บ้าน เจอยามเฝ้าประตูบอกว่าไม่ว่าขุนนางแม่ทัพผู้ใดก็ล้วนแต่ไม่อาจเข้าพบ ข้อมูลนี้บอกเราว่านอกจากฮ่องเต้แล้วคนอื่นก็อย่าหวังจะได้เจอหน้า เขาต้องการพบแค่ฮ่องเต้เท่านั้น

       รายละเอียดที่สอง คือตอนที่เล่าเสี้ยนมาหาขงเบ้งถึงบ่อสระปลานั้น ทั้งขงเบ้งและเขาต่างก็ทำกิริยาเงียบๆ เล่าเสี้ยนยืนเก้ๆกังๆอยู่หลังขงเบ้ง ขงเบ้งก็เอาแต่นั่งตกปลา ทั้งคู่ไม่พูดอะไรเลยอยู่นานมาก กรณีนี้เหมือนตอนสามเยือนกระท่อมหญ้า เล่าปี่เอาแต่ยืนรอขงเบ้งที่หลับอยู่ ขงเบ้งก็กัดฟัดทนนอนรอว่าเมื่อไหร่เล่าปี่จะไปซะที ทั้งหมดทั้งมวลนี้ล้วนแต่เป็นการเสแสร้งเพื่อหวังผล ขงเบ้งรอให้เล่าเสี้ยนพูดก่อน เพื่อหวังจะเอาการกระทำนี้มาเสริมสร้างบารมีให้ตนเอง

       ที่ขงเบ้งต้องใช้วิธีนี้ เพราะช่วงหลังๆตอนที่ขงเบ้งมาทำงานให้เล่าปี่ เขาทำแต่งานแนวหลัง ไม่มีโอกาสได้นำทัพวางแผนศึกอะไรมากมาย พอถึงตอนนี้ปัญหาที่เกิดคือขุนนางแลแม่ทัพเริ่มคลางแคลง ไม่เชื่อใจในตัวขงเบ้ง เกิดขงเบ้งสั่งการแล้วพวกทหารไม่ฟังจะทำไงดี ขงเบ้งจึงต้องดำเนินแผนยืมพลังเสริมบารมี เพื่อเพิ่มอำนาจให้ตนเอง ลองคิดถึงว่าเราเป็นมดตัวเล็กๆดู เราอยู่ๆของเราเกิดมีแมวหมามาเหยียบจะทำไง จะกินฮอร์โมนเร่งโตก็ไม่ได้ เห็ดมาริโอก็ไม่มี วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือไปยืนอยู่บนหลังช้าง ขู่ให้หมาแมวกลัว

       ในชีวิตจริงเราก็เห็นตัวอย่างเดียวกันเยอะแยะ อย่างเช่นว่าเรามีเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งนามว่านายหลิว ทุกคนเห็นว่าก็แค่ตาลุงใจดี แสนจะอ่อนแอเงียบหงิม ไม่เห็นจะมีอะไรเด่น ไปสั่งงานใครเขาก็ไม่ฟัง ผู้นำจึงแก้ปัญหาด้วยการจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ออกสื่อ เชิญเพื่อนของผู้นำ อดีตผู้บริหารที่เกษียณไปแล้ว ผู้เชี่ยวชาญมาชมนายหลิวออกสื่อพร้อมๆกัน ขับดันคุณค่าให้นายหลิวขึ้นไปอีก วิธีแบบนี้เรียกว่าเชิญนั่งเกี้ยว ยิ่งคนชมคนมาหาตำแหน่งยิ่งสูง ศักดิ์ศรีของนายหลิวยิ่งเยอะขึ้น ขงเบ้งต้องการใช้ฮ่องเต้เป็นเครื่องมือเพิ่มคุณค่าตนเองเช่นเดียวกับนายหลิวนี้

       พอถกมาถึงตรงนี้ อีกเรื่องหนึ่งที่ควรพูดถึงก็คือ ไอ้การ ”นั่งชิลๆคิดแผนสยบห้าทัพ” นี่มีจริงหรือเปล่า ก็ปรากฏว่าเรื่องนี้มีเฉพาะในนิยายซานกว๋อเหยี่ยนอี้เท่านั้น บันทึกซานกว๋อจื้อไม่ได้เขียนไว้ ฉะนั้นเรื่องนี้เกิดขึ้นเพียงในวรรณกรรมเท่านั้น หาใช่เรื่องจริงไม่ แม้จะเป็นเรื่องแต่ง แต่ก็แสดงถึงวิธีการแก้ปัญหาที่ฉลาดไม่น้อย ทว่าเรื่องราวในช่วงนี้มีสิ่งที่ ”เกินเรื่องเกินไป” อยู่สองอย่าง อย่างแรกคือเวลาที่ขงเบ้งยักย้ายถ่ายทัพ มีจูล่ง อุยเอี๋ยน กวนเป๋ง เตียวเปา และอื่นๆรวมกันกว่าแสนคน ทว่าเคลื่อนทัพยิ่งใหญ่กันทั้งที ฮ่องเต้ ฝ่ายปกครองส่วนกลางกลับไม่มีใครรู้เรื่อง เหมือนจะเป็นการกระทำอันอุกอาจไปหน่อย

       ยุคนี้สมัยนี้ พอคุณให้อำนาจแต่งตั้งใครมาทำงาน นั่นหมายถึงการอนุญาตให้ใช้อำนาจ แต่ว่ายังคงไว้ซึ่งสิทธิ์ที่จะรู้ข้อมูลอยู่ จะทำอะไรก็ช่าง แต่ขอให้รายงานมาด้วย ไม่ใช่คุณสั่งงานไปแล้วคนถูกสั่งขี่ม้าเปิดแน่บ แล้วก็ไม่รู้ข่าวคราว เป็นสิบเดือน ปีกว่าก็ไม่ทราบผล แบบนี้ใช้ไม่ได้นะ ผู้นำจำเป็นต้องรู้เรื่องราวเสมอ โดยเฉพาะเหตุการณ์ตัดสินความเป็นตายต่อองค์กร ต่อประเทศเรา ไม่รู้เรื่องอาจอนุมานได้ว่ามีแผนสมคบคิดบางอย่างอยู่แน่ๆ ที่เรื่องแบบนี้ไม่มีภัยเกิดขึ้นเป็นเพราะความซื่อของเล่าเสี้ยน และความคาดหวังอย่างสูงของเล่าปี่ ทำให้ขงเบ้งยังอยู่ดีมีแรง ไม่งั้นคงโดนข้อหากบฏไปแล้ว

       อีกเรื่องหนึ่งที่เกินขอบเขตก็คือเจตจำนงของเล่าปี่ ที่ให้ลูกหลานฮ่องเต้เรียกลูกน้องว่าพ่อ ลองไปหาดูได้ว่าแต่ไหนแต่ไรมา ไม่มีฮ่องเต้องค์ไหนเรียกขุนนางใต้อาณัติว่า “พ่อ” อย่างชัดแจ้ง การวางตัวระหว่างขงเบ้งกับเล่าเสี้ยนตามแบบนิยายเป็นอะไรที่ลักลั่นย้อนแย้งอย่างเห็นได้ชัด เมื่อครู่เรายังพูดว่าผู้นำสามารถยกระดับบารมีของลูกน้องได้ แต่ที่ขงเบ้งทำอยู่นี้แทบจะเรียกได้ว่าขี่คอฮ่องเต้อยู่รอมร่อ จากนิยายจะเห็นได้ว่าเราต้องนับถือความภักดีของขงเบ้ง นับถือสายตาและวิสัยทัศน์ของเล่าปี่ และความใจกว้างและอดทนของเล่าเสี้ยน ถ้าไม่มีสามสิ่งนี้ ขาดข้อไหนข้อเดียว จ๊กก๊กจบเห่แน่นอน

       จึงขอพูดว่า ความเชื่อมั่น(จากผู้อื่น)ก็เหมือนแก้วน้ำ ปัญญา(ของตัวเอง)ก็เหมือนน้ำร้อน ยิ่งมีความเชื่อมั่นเท่าไหร่ ก็ใส่น้ำร้อนได้เท่านั้น หากไม่มีความเชื่อมั่นมากพอ ระวังปัญญาจะลวกตัวเองตาย เหตุที่จ๊กก๊กยังเป็นไฟคุกโชนได้ เพราะมีปัญญาและความภักดีแบบขงเบ้ง และความเชื่อมั่นของผู้นำสองรุ่นกำกับอยู่

ขงเบ้งในตอนนี้มีทั้งบารมีสั่งการและความเชื่อมั่นแล้ว ก็ดำเนินกลยุทธที่สาม นั่นคือ

  • สาม แสดงความกล้าหาญ เสริมความมั่นใจ 
       ก่อนหน้าศึกห้าทัพเพียงไม่นานนัก วุยก๊บจ๊กในสมัยขงเบ้งได้มีการปะทะกันแล้ว ทว่าไม่ใช่ด้านการทหาร แต่เป็นด้านการโฆษณาชวนเชื่อ ทางวุยก๊กได้ส่งจดหมายห้าฉบับมาหาขงเบ้ง เพื่อลดทอนกำลังใจในการรบ ในบันทึกซานกว๋อจื้อก็มีเขียนไว้ จดหมายพยายามยวนยั่ว อธิบายสถานการณ์ อ้างคำอาณัติสวรรค์ โน้มน้าวให้ขงเบ้งยอมแพ้ แถมกระทำอย่างใหญ่โต ทำเอาคนในก๊กรู้เรื่องแล้วกังวลไปตามๆกัน ขงเบ้งแก้เกมด้วยการเขียนบทความส่งคืนไป ความว่าสมัยก่อน จักรพรรดิฮั่นนามหลิวซิ่ว รบที่คุนหยาง ใช้คนแค่แปดพัน เอาชนะทัพสี่สิบหมื่นของหวางหมั่งได้ ของแบบนี้พวกเราก็ทำได้ แม้เราจะน้อย แต่เรามีคุณภาพ ทุกคนพร้อมยอมตายไม่ยอมสยบ เพียงเราบุกขึ้นเหนือต้องชนะแน่ๆ

       พอบทความขงเบ้งแพร่ออกไป กำลังใจของชาวจ๊กก๊กก็กลับมา แถมฮึกเหิมยิ่งกว่าเดิมด้วย เรื่องนี้บอกเราว่าเวลาที่เผชิญแรงกดดันจากภายนอก ผสมด้วยความไม่มั่นใจของคนภายใน สิ่งแรกที่ต้องทำคือเราต้องหาทางกระตุ้นกำลังใจของคนในกลับมาให้ได้ ขอแนะนำว่าคนที่เป็นผู้นำจะต้องคุมสองสิ่งของลูกน้องให้ได้ นั่นคือ “ดี(ในตับ)” และ “ตา” ดีคือเมื่อคนเราขาดแรงใจ หมดหวัง ผู้นำต้องกระตุ้นกำลังใจให้ได้ การคุมตาคือยามที่ลูกน้องมองไม่เห็นทางรอด สิ้นหวังในชีวิต คุณต้องกระตุ้นและแสดงออกซึ่งทางรอดให้เขาเห็น

       จะขอเล่าตัวอย่างเล็กๆน้อยให้ฟัง สมมุติว่ามีกัปตันเรือหนุ่มคนนึง ต้องพบกับกัปตันอาวุโสท่านนึง ออกทะเล แล่นไปได้หน่อยกัปตันแก่ก็ลากกัปตันหนุ่มมาเล็คเชอร์ ออกความเห็นนิดหน่อย ให้กระดาษเล็กๆไปแผ่นนึง บอกว่าเรามีโอกาสเจอพายุเข้า พอเจอพายุแล้วคุณต้องไปยืนที่หัวเรือ ซึ่งเป็นที่ๆอันตรายที่สุด แล้วอ่านสิ่งที่อยู่ในกระดาษแผ่นน้อยนั่นออกมาดังๆ แล้วจะช่วยชีวิตลูกเรือได้ทั้งหมด แต่ตอนนี้ยังดูไม่ได้นะ รอพายุเข้าก่อนถึงค่อยเปิดอ่าน กัปตันหนุ่มก็รับคำ เมื่อถึงเวลาออกเรือได้ชั่วครู่ พายุก็เข้ามาอากาศเปลี่ยนแปร มืดฟ้ามัวดิน ชาวเลมักพูดกันว่าพอช่วงแล่นเรือท่ามกลางพายุมักรอดยาก ทุกคนจะตายมากกว่ากลับฝั่งได้ ก็โกลาหลอลหม่าน

       เวลาของการใช้สิ่งที่เขียนในกระดาษมาถึงแล้ว กัปตันหนุ่มไปยืนที่หัวเรือ ควักกระดาษขึ้นมาดู เขียนไว้ว่า “ท่าเรืออยู่ข้างหน้า” แล้วตะโกนออกไปดังๆ “ทุกคนอย่าได้ตื่นกลัว ข้าเห็นแล้ว ท่าเรืออยู่ลิบๆ ข้างหน้านั่นเอง ช่วยๆกันหน่อย ต้องไปถึงได้แน่” ลูกเรือได้ฟังก็มีกำลังใจ เพราะ หนึ่ง ขนาดกัปตันยังยืนเฉย เราจะกลัวไปทำไม สอง ท่าเรืออยู่ไม่ไกล เรายังมีหวังรอด จากความโกลาหลจะเอาชีวิตรอด ก็เริ่มบรรเทาลง จนเหลือแต่ความสงบ ทุกคนขมีขมันในการคุมเรือ รอจนพายุอ่อนแรง พ้นเขตอันตรายออกมาได้ จึงเห็นซากเสาเรือ ซากศพจากที่อื่นลอยเป็นแพ ในขณะที่เรือของกัปตันหนุ่มไม่เป็นอะไรเลย ความเสียหายต่ำมาก

       กับตันหนุ่มผู้รอดชีวิตก็ไม่เข้าใจ ทำไมคำพูดแค่นี้ถึงได้ช่วยชีวิตลูกเรือได้ ก็เลยไปถามกัปตันอาวุโส เขาก็อธิบายว่าพายุน่ะไม่น่ากลัวหรอก แค่จัดการหางเสือ ใบเรือ คุมพังงาให้ได้ก็รอดแล้ว สิ่งที่น่ากลัวของพายุคือมันทำให้ใจคนไม่สงบ โกลาหลกัน จะตายเพราะไอ้นี่แหละ เรือจะล่มไม่ใช่เพราะแรงพายุเป็นปัจจัยหลัก สิ่งที่ทำเรือพังจริงๆคือความหวาดกลัวและความโกลาหลที่พายุพัดมาด้วยตะหาก อุปสรรคและภัยไม่น่ากลัว ความกลัวและความวุ่นวายจากภัยอุปสรรคต่างหากที่อันตราย เวลาอันตรายแบบนี้แหละที่ผู้นำควรลุกขึ้นมาให้ความสงบใจและความหวังกำลังใจแก่ลูกน้อง ในประวัติศาสตร์ก็มีมากมายหลายครั้งที่กองทัพไม่ได้แพ้เพราะความยากลำบากและภัยอันตราย แต่มักจะแพ้เพราะความวุ่นวายไม่สงบใจ และความอลหม่านเสมอ

ส่วนพวงมาลัยนี่แหละครับ เรียกว่าพังงาเรือ

       ขงเบ้งมีความสงบใจของทีมงาน ความเชื่อมั่นจากมหาชน และบารมีสนับสนุนจากฮ่องเต้แล้ว แต่ก็ยังลงมือทำงานไม่ได้ ถ้าไม่ได้ดำเนินกลยุทธ์ข้อสุดท้าย นั่นคือ

  • สี่ ใช้เป้าหมายอันยิ่งใหญ่ เป็นแรงบันดาลใจ
       การทำงานทุกอย่างต้องมีเป้าหมายอันยิ่งใหญ่เสมอ บางคนอาจบอกว่าไม่จำเป็น หน่วยงานของเราไม่มีแผนใหญ่อะไรหรอก ขอแค่ทำงานได้เงิน เลี้ยงเมีย/ผัว เลี้ยงลูก ผ่านชีวิตแบบมีสุข แค่นี้ก็พอ ขอบอกเลยครับว่านั่นมันพวกองค์กรหลักลอย ผมมักจะพูดกับเขาเสมอว่าการจะทำงานใหญ่ได้เนี่ย ไม่มีเงินไม่ได้ มีเงินอย่างเดียวก็ไม่พอ ต้องเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจลูกทีมด้วย

       ลองไปดูเรื่อง 108 ผู้กล้าแห่งเขาเหลียงซานสิ ก่อนจะนั่งเรียงแถว ซ่งเจียงได้ทำสิ่งที่สูงส่งอย่างหนึ่ง นั่นคือหน้าหอคุณธรรมจะปักป้ายผ้าเหลือง เขียนอักษรสี่ตัว 替天行道 ใจความว่า “ตัวแทนแห่งแนวทางของฟ้า” นี่คือความสูงส่งของซ่งเจียง เพราะอะไร คิดดูสิว่าที่เขาเหลียงซานมีทัพนับหมื่น กับร้อยแปดผู้กล้า กินเหล้ากินเลี้ยง ผลาญเงินเป็นว่าเล่น เขาเอาทุนจากไหน ก็ปล้นเอาน่ะสิ หากคุณให้ผู้พิชิตน้อย โจวทง สิงโตมังกรตาไฟ เติ้งเฟย เสือแคระ หวางยิง สามคนนี้ไปปล้นคน ปล้นที่ไหนก็ได้ ได้เงินแล้วก็เอามาใช้กินใช้นอน ไม่มีความขัดข้องละอายใจ แต่ถ้าให้วีรบุรุษอย่างอู่ซง หลู่จื้อเซินไปปล้นชาวบ้าน เขาย่อมมีความละอาย มีความข้องใจอยู่บ้าง เป็นเพราะอะไร เพราะว่างานเหล่านี้ไม่มีเอกลักษณ์สำคัญ ภาพลักษณ์เหมือนๆกันหมด





บรรยากาศหน้าหอคุณธรรมคงประมาณนี้

       วัยรุ่นหลายคนสมัยนี้มีความฉลาด มีมารยาท ความประพฤติดี แต่พอเข้าทำงานทุกวันกลับไม่ค่อยอยากหรือไม่เต็มใจทำ เป็นเพราะว่างานพวกนี้มันไร้เอกลักษณ์ ไร้ความหมาย รู้ว่าทำแล้วได้ตังค์แค่นั้น คนจะทำการใหญ่ได้ ต้องใส่เอกลักษณ์ให้กับงานของตนเอง นายซ่งเจียงในเรื่องร้อยแปดผู้กล้าได้เติมเอกลักษณ์ อุดมการณ์ให้กับกลุ่มด้วยการเขียนป้ายผ้า บอกว่าพวกเราไม่ใช่โจรธรรมดา แต่เป็นโจรคุณธรรม ปล้นมาเลี้ยงตัวเพื่องานคุณธรรม ปล้นมาให้คนอื่นเพื่อการกุศล เขาต้องการประกาศอย่างชัดแจ้ง ผลลัพธ์ที่ได้ออกมาดีกว่าที่คิด

       กลับมาดูขงเบ้ง เขาก็พบปัญหานี้ มีแค่ผลประโยชน์ให้อย่างเดียวไม่พอ ต้องมีเหตุผล มีคุณธรรมให้ด้วย ขงเบ้งด้านหนึ่งก็ให้สถานะเงินทอง ให้ตำแหน่งทำ อีกด้านหนึ่งเขาก็ประกาศคำขวัญประจำก๊กอย่างดุดัน คือ “กู้ราชวงศ์ฮั่น ปราบคนทรยศ” กับ “ไม่ขออยู่ร่วมกับโจรกบฏ ไม่ขอปกครองแค่ดินแดนเดียว” ใส่คำขัวญลงไปเพื่อแสดงเป้าหมายใหญ่ ทำให้งานที่ทำดูมีคุณค่าขึ้น งานของเราไม่พูดถึงเรื่องเงินไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้เอาแต่เงินอย่างเดียว มีอุดมการณ์ด้วย กระตุ้นการขยันของคนทำงานขึ้นมาได้

       ขอบอกเลยว่าการทำงาน นอกจากจะต้องมีผลประโยชน์แล้ว ยังต้องมีอุดมการณ์ด้วย เงินทำให้คนทำงานได้ระยะหนึ่ง แต่อุดมการณ์ทำให้คนทำงานได้นานขึ้น ผลประโยชน์ทำให้คนเกิดแรงปะทุฮึดได้ในช่วงสั้นๆ อุดมการณ์ทำให้คนมีแรงใจทำในระยะยาว การทำงานคือการวิ่งช้าๆในระยะทางยาวๆ จะให้เร่งด้วยผลประโยชน์อย่างเดียวไม่ได้ เหมือนกับการฮึดวิ่งฝืนร่างกายในระยะสั้น ร่างกายจะเสียหายเอา ต้องมีทั้งสองอย่างงานถึงจะก้าวหน้า มีคุณภาพอย่างยั่งยืน

       ขงเบ้งแก้ปัญหาทางใจได้แล้ว มีความสงบทางการเมืองและสังคมแล้ว ศึกห้าทัพ (ในนิยาย) และศึกอื่นๆถูกแก้ไขได้แล้ว เขาก็เริ่มเตรียมการที่จะบุกแดนภาคกลาง ทวงคืนพื้นที่ให้ราชวงศ์ฮั่นแล้ว ใครๆก็อยากเสนอตัวมาทำการรวบรวมแผ่นดิน อุปสรรคข้อใหม่เกิดขึ้นมาท้าทายขงเบ้งแล้ว นั่นคือการคุมทัพขนาดใหญ่ ขงเบ้งคุมแม่ทัพไม่กี่คน กองพลเล็กๆก็ปัญหาไม่เท่าไหร่ นี่คุมทัพใหญ่เรือนหมื่นแสน คนประเภทไหนๆก็มีทั้งนั้น บางคนมีปัญหาเรื่องความประพฤติและมารยาท บางคนมีปัญหาเรื่องฝีมือและความรู้ความสามารถ ปัญหาแรกก็ประมาณว่าพังพอนจะเป็นพี่เลี้ยงให้ไก่ บอกว่าเป็นเรื่องดี ไม่มีหวังร้าย ปัญหาอย่างหลังก็แบบถั่วงอกริอยากเป็นไม้เท้า แก้ก็แก้ไม่ตก พึ่งก็พึ่งไม่ได้ คนสองแบบนี้อยู่ในมือคุณแล้ว จะคุมยังไงดี ลูกน้องแบบนี้นำปัญหามาให้ทุกวัน ก่อกวนไม่หยุดหย่อน ขงเบ้งจะแก้ปัญหาแบบไหน ใช้วิธีใดดัดหลังหรือกำจัด โปรดติดตามต่อตอนหน้าครับ

2 ความคิดเห็น:

  1. บทความคุณภาพมาอีกแล้ว อ่านสนุกและได้ความรู้ทุกตอนเลย ขอบพระคุณมาก ๆ ครับ

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณมากค่า อ่านแล้วได้ความรู้มากเลยค่ะ
    เป็นกำลังใจให้นะคะ ^^

    ตอบลบ