วันอาทิตย์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ทดสอบบทความ

       ผม Hilter เองครับ ในระยะใกล้นี้มีแผนว่าจะย้ายบล็อกมานี่ เลยทดลองบทความก่อน

       ในชีวิตของคนเรามีเหตุการณ์มากมายที่ต้องตัดสินใจ ซึ่งการตัดสินใจแต่ละครั้งนำมาซึ่งความลังเลและกังวลใจ เนื่องด้วยว่าเรากังวลอยู่กับตัวเลือกที่บางครั้งมีมากจนเกินไป หรือบางทีก็เป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญที่จะเปลี่ยนชีวิตใครๆ แล้วเราจะเลือกยังไงดีล่ะ ผมมีหนึ่งข้อคิดดีๆจาก อ.เจ้าหวี่ผิง จากมหาลัยการจดหมายและโทรคมนาคมปักกิ่ง เขาจะมาเล่าสามก๊กแบบ 麻辣说三国 เล่าแบบเผ็ดร้อน เชิญลองอ่านดูก่อนครับ
หัวข้อในวันนี้ เลือกแล้วไม่เสียใจ นั่นแลตัวเลือกดี
 
       รับชมคลิปนี้ได้ที่ http://kejiao.cntv.cn/C29940/classpage/video/20110801/100997.shtml
 
       ตอนแรกเค้าแนะนำถึงตัวสุมาอี้ก่อน (สำหรับใครที่ไม่รู้จักสุมาอี้นะครับ) เขาบอกว่าสุมาอี้เนี่ยเป็นชาวเหอหนาน ตำบลเวิน เป็นกุนซือคนนึงที่มีชื่อเสียงมาก เขาโผล่มาตอนท้ายๆของเรื่อง ตอนที่ตัวเอกตอนแรกๆอย่างโจโฉ เล่าปี่ เตียวหุยตายไปหมดแล้ว แต่เขาก็ไม่ได้เหงา เพราะยังเหลือขงเบ้งไว้ท้าทายสติปัญญาและความสามารถ เป็นคู่กัดที่สมน้ำสมเนื้อกันดี ถึงกับเปรียบไว้ว่าเป็นดาวใหญ่ๆสองดวงบนจักรวาลเลยทีเดียว
 
       ทีนี้มาว่าด้วยเรื่องของการตัดสินใจแบบสุมาอี้ ดูจากตอนไหน อาจารย์แกวิเคราะห์จากตอน "แผนเมืองร้าง" ของขงเบ้งครับ (ใครไม่รู้จักก็เอาคำนี้ไปค้นอากู๋เอาเองนะครับ) เมืองเล็กๆที่มีทหารประจำการอยู่ไม่กี่พันนาย ประจันหน้ากับทัพสุมาอี้จำนวนเรือนแสน แต่ด้วยปัญญาของขงเบ้ง ทำให้สุมาอี้ต้องตัดสินใจครั้งใหญ่ว่าจะบุกหรือไม่บุกเมืองนี้ดี สุมาอี้เขาคิดยังไงกันล่ะ ถ้าบุกก็อาจจับตัวขงเบ้งแบบตัวเป็นๆได้เลย แต่ถ้ามันเป็นกลลวงล่ะ เราซะอีกที่จะเข้าไปติดกับ ทัพแสนกว่าคนต้องพลอยมาตายเพราะคำสั่งเราไปด้วย เรียกว่าขโมยไก่ไม่ได้ ยังเสียข้าวไปอีก
ขงเบ้ง ตอนแผนเมืองร้าง
 
       หลังจากนั้นอาจารย์แกก็เล่าว่าแกได้ดู 微博 (ประมาณคล้ายๆทวิตเตอร์) มีคนโพสท์ถึง "โรคกังวลในการตัดสินใจ" เนื้อหาบอกว่ามีลาตัวนึงหิวมาก คุณให้หญ้าไปกองนึง มันก็กินอิ่มสบายใจ แต่ถ้าคุณให้หญ้าไปสองกอง มันจะเริ่มเดินดูกองซ้าย ย้ายไปกองขวา ดูว่ากองไหนมันน่ากินกว่ากัน ทำยังงี้จนเหนื่อย ไม่ได้กินซักที ถ้าเราให้ห้ากอง มันคงเหนื่อยหิวตาลาย ไม่ได้กินแน่นอน เขายังเปรียบไว้ว่ามีหญ้าหนึ่งกองคือสบายใจ มีหญ้าสองกองคือทรมาณ หญ้าห้ากองคือโหดร้ายทารุณ เปรียบเหมือนคนเรา ลองเทียบดูกับเด็กคนนึงคะแนน高考报志愿(ประมาณผลสอบแก็ตแพ็ท)ออกมาแล้ว คะแนนเขาธรรมดา เลือกได้ไม่กี่มหาลัย เลือกแล้วก็สบายใจ แต่ถ้าคะแนนเขาดีเลิศ จะเข้าที่ไหนก็ได้ คงเกิดการเอารายชื่อมหาลัยดังๆออกมากาง ดูสามวันสามคืนไม่หลับไม่นอน แล้วก็กังวลใจ กลับมาที่เรื่องสามก๊ก ทำไมขงเบ้งถึงต้องใช้แผนนี้ เขาวิเคราห์ออกมาได้สองอย่าง คือจนใจจำต้องใช้วิธีนี้ กับมั่นใจมากว่าคนอย่างสุมาอี้ต้องรู้ตัวเขาดีแน่ๆ และรู้ว่าสุมาอี้ขี้ระแวง จึงกล้าใช้ลูกไม้นี้
 
       สุมาอี้นั้น ประสบการณ์ในชีวิตและการรบสอนให้เขารู้ว่าถ้าสถานการณ์ไม่ชัดแจ้ง อย่าด่วนตัดสินใจ สุดท้ายเขาจึงถอยทัพ พวกเราในสมัยนี้มักคิดว่า"โง่รึเปล่าฟะ ทัพแกมีตั้งมากมาย ทำไมไม่ถล่มให้ราบ" ลูกของสุมาอี้นามว่าสุมาเจียวก็คิดแบบนี้ เลยไปถามพ่อขอกำลังบุก สุ มาอี้จึงตอบกลับไปว่า"ขงเบ้งฉลาดรอบคอบ ไม่เคยมีแผนเสี่ยง เปิดประตูเมืองไว้ว่างๆย่อมมีพลซุ่มอยู่ พวกเราเข้าไปย่อมตายกันหมด แกยังเด็กนักจะไปรู้อะไร"
 
       พฤติกรรมของขงเบ้งในยามนั้นคงเรียกได้ว่า "反常行为 พฤติกรรมผิดแผก" วิชาการบริหารกล่าวไว้ว่า "เบื้องหลังของพฤติกรรมผิดปกติย่อมมีความลับที่คาดไม่ถึงซ่อนอยู่" ลองคิดดูว่ามีเพื่อนเราคนนึงโดยปกติสุภาพเรียบร้อย อยู่ดีๆเขาก็เข้ามาตีสนิทคุณ เรียกคุณว่าท่านลุงบ้างล่ะ ใต้เท้าบ้างล่ะ คุณจะคิดยังไง บอกได้เลยว่าต้องมีเบื้องหลังแน่นอน อาจารย์แกยังยกเรื่องในไซอิ๋วมากล่าวอ้างด้วยว่าตอนที่พระถังไปเจอปีศาจสาว โดยปกติรูปร่างของปีศาจคือหน้าเขียวผมแดง ฟันหักฟันยื่น ซดเลือดชามใหญ่ เจอคนก็เขมือบ แต่พอเจอพระถังก็อ้อนแอ้นอ่อนช้อย พูดไพเราะเพราะพริ้ง เป็นเพราะอะไร เพราะจะหลอกกินพระถังนี่แหละ
 
       ด้วยเหนุผลนี้เอง สุมาอี้จึงสั่งถอยทัพ ขงเบ้งก็รอดตัวไป แต่ทีนี้ลองคิดดูว่าที่สุมาอี้ถอยทัพนี้เป็นความพ่ายแพ้ของสุมาอี้จริงหรือ ดูจากมุมมองของสุมาอี้แล้ว สุมาอี้ประสบผลสำเร็จมากกว่า ทำไมอาจารย์แกจึงกล้าพูดแบบนี้ เป็นเพราะแกวิเคราะห์กลยุทธ์ออกมาเป็นข้อๆ กลยุทธของสุมาอี้คือ
       "ไม่เลือกตัวเลือกที่ดียิ่ง แต่เลือกที่ตนพอใจยิ่ง"
       สุมาอี้เผชิญกับเหตุการณ์ที่เรียกได้ว่าวิกฤตยิ่ง ตอนนั้นจูล่งฆ่าแม่ทัพยอดฝีมือไปห้าคนแล้ว ดินแดนสำคัญๆก็ถูกขงเบ้งยึดไปแล้ว โจจิ๋น กัวหวย แฮหัวป๋าถูกตีพ่าย เรียกได้ว่าแทบจะถูกกินทั้งกระดานหมาก เว่ยก๊กหมดหนทาง ถึงได้เชิญสุมาอี้ไปออกรบ ทหารในมือเขาก็น้อยกว่าขงเบ้งมาก ยิ่งไม่ต้องพูดถึงแม่ทัพ แต่สามารถบีบให้ขงเบ้งกลับแดนจ๊กก๊กไปได้ก็ถือว่าดีแล้ว ลองคิดดูว่าถ้าคุณต่อยกับแชมป์มวยแล้วเขาถอยไปได้ หรือต่อยได้สูสีก็ถือว่าได้ผลดีเยี่ยมแล้ว มีคนบอกว่าถ้าลองเสี่ยงไปยึดเมืองแล้วจับขงเบ้งตัวเป็นๆได้ไม่ยิ่งดีกว่า หรือ แน่นอนว่านี่ก็เป็นเรื่องดี แต่อย่าลืมว่ามีโอกาสเสี่ยงสูง ถ้าคุณบุกเข้าไป เจอกองซุ่มอยู่จะทำยังไง เรามิตายหมดหรือ
แล้วสุมาอี้เลือกอย่างไรล่ะ อย่างแรก มีโอกาสเต็มร้อยให้มั่นใจเพียงเก้าสิบ ข้อสอง มีความเสี่ยงเพียงนิดเดียวก็ให้เท่ากับเต็มร้อย หลายๆคนเวลาตัดสินใจอะไร ก็มักคิดว่าความเสี่ยงนิดเดียว แต่ก็ยังเสี่ยงอยู่ดี สุมาอี้ในที่นี้คิดว่าไล่เขาไปก็ดีใจหลายๆ หากขืนยังไล่ตามไปอีกโดยคิดว่าจับเป็นขงเบ้งได้ เราอาจต้องเสียใจภายหลังแน่ๆ
 
       วิชาการบริหารกล่าวไว้ว่า "ไม่มีความสมบูรณ์เต็มร้อย มีเพียงความล้มเหลวเต็มร้อยเท่านั้น หากต้องการผลที่ดีที่สุด คุณกลับจะได้ความผิดพลาดมาแทน" เราควรหยุดแค่พอเหมาะพอควร ได้ผลเป็นที่พอใจก็ดีแล้ว ท้ายที่สุดสุมาอี้จึงถอยทัพ ขงเบ้งก็กลับเหมือนกัน หลังจากนั้นถึงได้มีการส่งคนไปตรวจสอบถึงรู้ว่าเป็นเมืองเล็กๆจริง แถมมีแต่พลเมืองธรรมดา ไม่มีแม้แต่พลซุ่มเพราะไม่มีที่ให้ซุ่ม สุมาอี้ทราบข่าวก็เสียดาย หงายหน้าขึ้นฟ้า พูดว่าข้าสู้ขงเบ้งมิได้ มนุษย์เราจะทุกข์ที่สุดเพราะเสียใจภายหลังนี่แหละ มีคำกล่าวว่าคนจริงย่อมไม่เสียใจภายหลัง ตัวเลือกที่ดีก็เช่นกัน จะเกิดอะไรขึ้น ใครจะมองเรายังไงก็ช่าง ขอแค่เราไม่เสียใจภายหลังก็ดีแล้ว อนาคตข้างหน้าไม่มีใครคาดเดาได้ อาจารย์ยังกล่าวอีกว่า "การ เสียใจภายหลังคือเงาของการตัดสินใจ การเสียดายคือสิ่งคู่ชีวิตของมนุษย์ มีชีวิตก็ต้องมีเสียดาย มีการตัดสินใจก็ต้องมีเสียใจภายหลัง" หากทุกการตัดสินใจนำมาซึ่งความเสียดาย จะทำยังไง เราก็ต้องหาตัวเลือกที่จะทำให้เราเสียดายน้อยที่สุด หากสุมาอี้บุกเมืองจับขงเบ้ง แต่ต้องเสียทหารนับหมื่น กับปล่อยขงเบ้งกลับไป สุมาอี้เพียงเสียรู้ อย่างไหนน่าเสียดายมากกว่ากัน ลองคิดดูว่ามีเงินสี่หมื่น เอาไปแทงหวย ถ้าถูกก็ได้กำไร ถ้าถูกกินก็หมดตูด ถ้าเราไม่แทง เราก็ไม่ได้ไม่เสีย ฉะนั้น เมื่อประสบผลแล้วจงอย่าโลภมาก
 
       พูดถึงแผนเมืองร้างนั้นใช่ว่าจะใช้ได้กับทุกคน ที่ขงเบ้งกล้าใช้นั้นเพราะรู้นิสัยสุมาอี้ดี เรียกว่า "给高人用高招 见俗人用俗招 พบคนสูงใช้แผนสูง พบคนทรามใช้แผนทราม" หากเปลี่ยนจากสุมาอี้เป็นเคาทู เขาคงไม่คิดหน้าคิดหลัง นำกำลังห้าร้อยคนจับขงเบ้งได้ไม่ยาก เพราะฉะนั้นจะใช้แผนอะไรให้ดูนิสัยคู่ต่อสู้ด้วย รู้เขารู้เรา รบร้อยชนะร้อยครับ
 
       กลับมาดูวิธีเลือกแบบสุมาอี้อีกครั้ง คนเราเวลาตัดสินใจอะไรอย่าได้พิจารณาแค่ผลประโยชน์เฉพาะที่อยู่ตรงหน้า แต่ให้คิดถึงผลกระทบระยะยาวด้วย อาจารย์แกวิเคราะห์วิธีการเลือกของสุมาอี้ข้อต่อไปคือ "อย่าได้ตกหลุมพรางตัวเลือกของคนอื่น" แต่แล้ว แกก็ออกมาบอกว่าเรื่องแผนเมืองร้างเป็นเรื่องที่ไม่เกิดขึ้นจริง (แต่อุตส่าห์วิเคราะห์ออกมาได้เป็นวรรคเป็นเวรเนี่ยนะ) สุมาอี้เจอขงเบ้งครั้งแรกในประวัติศาสตร์จริงๆตอนปี ค。ศ。231 ขงเบ้งนำทัพขึ้นฉีซาน โจจิ๋นก็ป่วยตอนนั้นพอดี พระเจ้าโจยอยจึงส่งสุมาอี้มาช่วยรบ สุมาอี้มาถึงฉีซาน แบ่งกำลังส่วนหนึ่งเฝ้าค่าย ที่เหลือออกตามหาขงเบ้ง โดยบุกตรงไปยังค่าย แต่ขงเบ้งไม่ออกรบด้วย เพียงหลบส่วนใหญ่ปะทะส่วนน้อย (แผนกองโจรนั่นล่ะ) สุมาอี้ไม่บุกขึ้นเขามา ขงเบ้งก็ย้ายค่ายขึ้นสูงไปอีก สุมาอี้บุกมา ขงเบ้งก็ปะทะมันตรงนั้น ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ สุมาอี้จึงรู้สึกตัวได้ว่าสู้ขงเบ้งไม่ได้ ก็คิดแผนขึ้นมา โดยวิ่งรัชเข้าทางสายหลักที่จะเข้าค่ายขงเบ้ง ซึ่งคาดเดาได้ว่าต้องมีกำลังทหารซุ่มอยู่ บันทึกประวัติศาสตร์กล่าวไว้ว่าทัพสุมาอี้ถอดเกราะออกทิ้งแล้วเดินทางขึ้น ค่ายทั้งเช้าเย็น มีแม่ทัพมาถามว่าทำแบบนี้ได้ประโยชน์อะไร สุมาอี้ตอบว่าขงเบ้งเป็นคนรอบคอบ เค้าไม่ยอมออกปะทะเรา ต้องการสร้างค่ายให้มั่นคง ถ้าเรามาถึงก่อนที่ฝ่ายมันสร้างค่ายเสร็จ ฝ่ายเราจะได้เปรียบ (เพราะฝ่ายขงเบ้งออกแรงสร้างค่าย เหนื่อยกว่าสุมาอี้เร่งเดินทัพ ทัังยังไม่ได้ตั้งเป็นกระบวนด้วย) แล้วสุมาอี้ก็เดาถูก ไปถึงตอนขงเบ้งเพิ่งสร้างค่ายเสร็จพอดี อาจารย์ยังกล่าวอีกว่าคนเราเวลาทำสิ่งที่ถนัดที่สุด ก็จะถูกคนอื่นจับข้อพิรุธได้ง่ายที่สุด สุมาอี้เห็นข้อเด่นความถนัดของขงเบ้ง แล้วเอาจุดนั้นเองมาเล่นงานขงเบ้ง เห็นจะพิสูจน์ได้ดีนัก
 
       จากนั้นสุมาอี้ก็รบกับขงเบ้งอีกพักนึง แล้วก็ตั้งค่ายอยู่ข้างค่ายขงเบ้งนั่นเอง ขงเบ้งเห็นว่าสู้ไม่ได้แน่จึงถอยทัพกลับไป สุมาอี้ตัดสินใจไล่ตามทันที ขงเบ้งหนีไปอีกเมืองนึงที่ชัยภูมิดีกว่ามาก ป้อมก็มั่นคงกว่า สุมาอี้มาถึงกลับไม่บุก แต่ตั้งค่ายอยู่อีกฟากของแม่น้ำ คอยจับตาดูขงเบ้งอยู่เงียบๆ สร้างความงุนงงให้กับตนทั้งสองก๊กว่าถ้าไม่บุกแล้วไล่ตามมาทำไม วิธีนี้นี่เองคือ "อย่าได้ตกหลุมพรางตัวเลือกของคนอื่น" ขงเบ้งถอยมาตั้งรับสร้างตัวเลือกให้สุมาอี้มาบุก แต่สุมาอี้กลับไม่บุกตามนั้น กลับเฝ้าดูอยู่ห่างๆ
       อาจารย์แกยกมาอีกตัวอย่าง มีคู่รักชายหญิงอยู่คนนึง หญิงสาวก่อนจะรับปากแต่งงานถามว่า "ถ้าหากฉันกับแม่เธอตกน้ำ เธอจะช่วยใครก่อน" ปัญหานี้ตอบยากดีแท้ หากตอบว่าช่วยเธอก่อนก็โดนว่าอกตัญญู ช่วยแม่ก่อนก็ว่าไม่รักกันแล้ว หากบอกว่าขอโดดไปตายพร้อมกัน ก็จะถูกด่าว่าเป็นไอ้โง่ ถ้าไม่ช่วยใครเลยก็หาว่ายังเป็นคนอยู่หรือเปล่า จะเห็นได้ว่าแทบทุกตัวเลือกเป็นหลุมพรางทั้งนั้น วิธีการแก้ปัญหานี้อย่างไม่ตกหลุมพรางตัวเลือก คีย์เวิร์ดอยู่ที่คำว่า "ถ้าหาก" เธอใช้คำนี้ได้ ฉันก็ใช้คำนี้ได้ ก็ตอบไปสิว่าถ้าหากแม่ฉันว่ายน้ำเป็นเราทั้งคู่ก็ไปช่วยเธอด้วยกัน ถ้าเธอตอบตกลงแต่งงานนะ หากฝ่ายหญิงถามกลับมาว่า "แล้วถ้าแม่เธอว่ายน้ำไม่เป็นล่ะ" คำตอบคือ "วางใจเถอะ ขอแค่วันนี้เธอรับปากแต่งงานกับฉัน ฉันจะรีบพาแม่ไปหัดว่ายน้ำอย่างแน่นอน"
       สุมาอี้ใช้วิธีเลือกตรงข้ามกับที่ขงเบ้งคาดการณ์ไว้ ทำให้เกิดการเขว ราชสำนักเว่ยก็ส่งคนมาถามว่าทำไมไม่บุก กลัวหรือ ขี้ขลาดหรือ สุมาอี้ก็รออยู่ห้าเดือนถึงได้บุกเข้าไป ถึงตอนนั้นกำลังใจในการรบฝ่ายขงเบ้งก็หายหมดแล้ว อีกทั้งเสบียงร่อยหรอ จำใจยกทัพกลับในเดือนที่หกนั้นเอง แล้วสุมาอี้ก็ยกทัพกลับ เรามองภาพรวมของสุมาอี้ได้ว่าสุมาอี้ไม่ใช่จอมรุก แต่เก่งบริหารจัดการ ขงเบ้งไม่ใช่นักบริหารที่เก่ง แต่มีผู้นำสนับสนุน ประชาชนไว้ใจ นายทัพสามัคคี ตรงข้ามกับสุมาอี้ ที่ผู้นำหวาดระแวง ไร้ประชาชนสนับสนุน ไม่ว่าจะทำเรื่องใดก็ไม่มีใครชอบใจอยู่แล้ว ความเสี่ยงของชีวิตสุมาอี้ไม่ใช่รบกับขงเบ้ง แต่เป็นความระแวงจากเบื้องสูงตะหาก
 
       สรุปวิธีคิดอย่างสุมาอี้
  1. ไม่เลือกที่ดียิ่ง แต่เลือกที่พอใจยิ่ง
  2. เลือกแล้วไม่เสียใจ คือตัวเลือกดี (แต่ทุกตัวเลือกย่อมต้องมีเสียใจ จงเลือกที่เสียใจน้อยที่สุด)
  3. อย่าได้ตกหลุมพรางตัวเลือกของผู้อื่น